พพ. เตรียมจับมือกรมสรรพากร ออกมาตรการลดภาษีให้ครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ เป็นเวลา 2 ปี

- Advertisment-

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เตรียมประสานกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ออกมาตรการลดภาษี สำหรับครัวเรือนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง กำหนดสิทธิ์ไม่เกิน 9 หมื่นครัวเรือน ในระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2567-2569) คาดช่วยให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท และลดการใช้ LNG ได้ถึง 2,100 ล้านบาท ขณะเดียวกันเตรียมความพร้อมลดหย่อนภาษีให้นิติบุคคลที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน 13 รายการด้วย   

วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำมาตรการลดภาษีสำหรับผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เฉพาะกลุ่มบ้านอยู่อาศัย ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้าน เบื้องต้นจะให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับระบบโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์  วงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท

โดย พพ. ตั้งเป้าหมายให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีกับกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 9 หมื่นครัวเรือน ซึ่งเบื้องต้นระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวน่าจะกำหนดใช้เพียง 2 ปี คือ ระหว่างปี 2567-2569 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมในมาตรการดังกล่าว

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการลดภาษีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประมาณ 20,250 ล้านบาท และช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 585 ล้านหน่วยต่อปี นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้ประมาณ 9,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100 ล้านบาท รวมทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.28 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ในส่วนของนิติบุคคล พพ.ก็เตรียมออกมาตรการลดหย่อนภาษีเช่นกัน โดยนิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ใน 13 รายการดังนี้มาลดหย่อนภาษีได้ ได้แก่ ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องปรับอากาศ, ตู้เย็นแสดงสินค้า, เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ, เครื่อง VSD, เครื่องอัดอากาศแบบลูกสูบ, ปั๊มความร้อน, เครื่องเชื่อมไฟฟ้า, ฟิล์มติดกระจก, สีทาอาคาร, มอเตอร์ไฟฟ้าเหนี่ยวนำ และกระจก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ต้องเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ด้วย

โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ แบบทยอยหักต่อเนื่อง 5 ปีภาษี ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสะสม 5 ปี ได้ 29,020 ล้านหน่วยต่อปี และยังช่วยลดการนำเข้า Spot LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลวในราคาตลาดจรได้ 203 ล้าน MMBTU หรือคิดเป็นมูลค่า 105,551 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม พพ. กำลังจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของกรมสรรพากรในการกำหนดอัตราลดหย่อนภาษี, ระยะเวลาและรายละเอียดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่อไป โดยในเดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 พพ.จะจัดทำร่างแนวทางหรือหลักเกณฑ์การส่งเสริมอุปกรณ์ประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงด้วยมาตรการทางภาษี จากนั้นในเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2567 จะเสนอแนวทางหรือหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อกรมสรรพากร และในเดือน ก.ค.-ก.ย. 2567 พพ.จะจัดทำฐานข้อมูลรายการอุปกรณ์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ และเตรียมระบบติดตามประเมินผลจากการออกมาตรการทางภาษี โดยคาดว่าในเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2567 กรมสรรพากรและ พพ. จะประกาศใช้ร่างแนวทางและหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้     

Advertisment

- Advertisment -.