กระทรวงพลังงานเตรียมบีบค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนจริงเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย ทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระเพิ่มอีก 1.4 หมื่นล้าน

- Advertisment-

เปิดข้อมูล กฟผ.แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนอ่วมเพิ่มอีกเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท หากรัฐบาลยอมให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 เพียง 4.20 บาทต่อหน่วย ทำให้ยอดค้างสะสมเพิ่มเป็น 1.25 แสนล้านบาท ในขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมหารือสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน และ สำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปรับลดค่าไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน  2566  และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าไฟฟ้าในส่วนของค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน มกราคม – เมษายน  2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเป็นอัตราที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และศักยภาพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการบริหารจัดการความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ ที่ กฟผ. จะต้องมีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็นได้นั้น  ปรากฏว่าในวันที่ 30 พฤศจิกายน โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ได้ออกมาชี้แจงผ่านสื่อว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำชับให้คณะทำงานหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟฟ้าลงจากที่มติ กกพ.ประกาศ โดยจะให้ปรับขึ้นได้ไม่เกิน 4.20 บาทตต่อหน่วย โดยระบุว่าจะใช้กลไกการจัดการแบบผสมผสานหลายขั้นตอน

- Advertisment -
ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กำลังหาแนวทางปรับลดค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐมนตรีพลังงาน โดยหารือกับสำนักงาน กกพ.และสำนักงบประมาณ

และในวันที่ 1 ธันวาคม 2566  นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยผ่านเอกสารข่าวที่แจกให้กับสื่อมวลชนว่า ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นในครั้งนี้ จะอยู่ในส่วนของค่า Ft ซึ่งเกิดจากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมา ซึ่งต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลักของค่าไฟฟ้าคือก๊าซธรรมชาติ ที่มีความผันผวนอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และในช่วงนี้ เป็นช่วงฤดูหนาวของกลุ่มประเทศตะวันตก ทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ราคาในตลาดโลกจึงปรับตัวสูงขึ้นตาม กอปรกับที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จึงทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติลดน้อยลง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตในภาวะปกติได้ในช่วงเดือนเมษายน 2567

ทั้งนี้การประกาศค่า Ft รอบเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ของ กกพ. ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับภาคประชาชนและภาคเอกชน กระทรวงพลังงานจึงเตรียมหารือกับ กกพ. เพื่อให้พิจารณาการคำนวณค่า Ft ว่าจะมีส่วนใดที่สามารถปรับลดได้เพิ่มขึ้นบ้าง เบื้องต้นคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น มีการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งที่มีต้นทุนต่ำ  รวมทั้งจะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อของบกลางมาช่วยเหลือเพื่อลดค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งการเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด และรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือได้ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย

ในขณะที่แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง 4 แนวทางที่จะสามารถดำเนินการเพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 4.20 บาทต่อหน่วยตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกอบด้วย

1. ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลง ซึ่งในแนวทางนี้ ปตท.จะต้องแบกรับภาระแทนประชาชน

2. ภาครัฐต้องกำหนดให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติเท่ากัน ทั้งฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้า และฝั่งที่ขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี เนื่องจากปัจจุบันราคาขายก๊าซฯ ให้ธุรกิจปิโตรเคมี มีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้า โดยแนวทางนี้อาจดำเนินการในระยะสั้นได้

3.ให้ กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนที่ประมาณ 48 สตางค์ต่อหน่วยไปก่อน เช่นเดียวกับที่ผ่านมา กฟผ. แบกรับภาระค่าไฟฟ้าไว้และให้ประชาชนมาทยอยจ่ายคืนในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในภายหลัง รวมทั้งให้ ปตท.ลดค่าก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าลง โดย ปตท.แบกรับภาระไปก่อน แล้วให้ประชาชนจ่ายคืนในภายหลังเช่นกัน

และ 4. ให้นำเงินงบประมาณจากภาครัฐมาจ่ายชดเชยราคาค่าไฟฟ้าส่วนลด ที่ประมาณ 48 สตางค์ต่อหน่วยแทน ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐจะต้องหาเงินมาชดเชยค่าไฟฟ้าให้ประชาชนและเป็นผู้แบกรับภาระแทน

โดยทั้ง 4 แนวทางดังกล่าว ควรต้องรายงานให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยข้อมูลถึงผลกระทบที่ กฟผ.จะได้รับหากมีการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ว่า  จะทำให้ กฟผ.มีภาระค่า Ft ที่ต้องค้างรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 13,950 ล้านบาท และทำให้ยอดสะสมของค่า Ft ค้างรับรวมเป็น 125,950 ล้านบาท จากที่เคยปรับลดลงมาเหลือที่ระดับ 95,777 ล้านบาท ก่อนหน้านี้

โดยการที่รัฐจะบีบให้ ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย ปรับเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย จากที่ กกพ.มีมติไว้ ที่ให้เพิ่มเป็น 4.68 บาทต่อหน่วยนั้น จะเป็นการสั่งให้ กฟผ.ต้องขายไฟฟ้าต่ำกว่าราคาต้นทุน และต้องแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ ต่อเนื่องจากการเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566  ซึ่งนโยบายที่จะให้มีการยืดระยะเวลาการจ่ายคืนค่า Ft ค้างรับกับ กฟผ. อยู่เช่นนี้ ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพราะในท้ายที่สุด ผู้ใช้ไฟฟ้า ก็จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าส่วนที่ชะลอการจ่ายนี้ในอนาคต อยู่ดีนั่นเอง

นอกจากนี้การให้ กฟผ.แบกรับภาระที่มากเกินไปและต่อเนื่องเป็นเวลานาน หาก กฟผ. ขาดสภาพคล่อง ก็จะต้องมีการกู้หนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ที่เพิ่มขึ้น  ก็จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชนและผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นไปอีก 

ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจจะดีใจที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าในระยะสั้นๆ โดยที่ไม่ทราบว่า ภาระต้นทุนที่จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปจากอัตราดอกเบี้ยที่กฟผ.ต้องไปกู้เงินมาเพื่อสนองตอบนโยบายรัฐบาล ที่จะต้องทยอยจ่ายคืนนั้น จะมากกว่าการยอมที่จะให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริงในตอนนี้  อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลยังต้องการที่จะให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจริง ก็จะต้องนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้เป็นมติออกมา เพื่อเปิดทางให้ กกพ. ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในมาตรา 64 มาตรา 69 และ ประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 ปรับลดค่าไฟฟ้าให้เป็นไปตามมติครม.ที่ออกมา เหมือนเช่นที่เคยดำเนินการในงวด เดือน กันยายน-ธันวาคม 2566  ที่ให้ทั้ง กฟผ.และปตท.มาช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นไปก่อน แต่การดำเนินการในครั้งนั้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยค่อนข้างมาก

Advertisment

- Advertisment -.