เตรียมเสนอรัฐตัดสินใจ “มาตรการยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันชีวภาพ” ต้นปี 2567 หวั่นราคาดีเซลพุ่งหลัง ก.ย.ปีหน้า

- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอรัฐมนตรีพลังงาน ต้นปี 2567 ตัดสินใจนโยบาย “ยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ” ก่อนกฎหมายจะครบกำหนด 24 ก.ย. 2567 หวั่นส่งผลราคาดีเซลดีดขึ้นตามตลาดโลกทันที ชี้หากต้องการชดเชยราคาต่อเนื่องอีก 2 ปี จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายเวลาอีกรอบไปจนถึงปี 2569 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันทุกชนิด    

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน รายงานว่า ช่วงต้นปี 2567 ที่จะถึงนี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เตรียมพร้อมตัดสินใจนโยบาย “การยกเลิกชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพทุกชนิดตั้งแต่ 24 ก.ย. 2565 แต่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขอขยายเวลาได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาไปแล้ว 1 ครั้ง  เพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนน้ำมันฯ  ไปชดเชยราคาดีเซลและแก๊สโซฮอล์ได้ต่อเนื่อง ดังนั้นในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่จะนำเงินกองทุนฯ ไปชดเชยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลได้

ฉะนั้นจึงเหลือเวลาอีก 6-7 เดือน ก่อนถึงวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่จะต้องตัดสินใจและทยอยลดการชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์และดีเซล ปล่อยให้กลายเป็นราคาจริงตามตลาดโลก หรือจะต้องชดเชยราคาต่อไป แต่หากไม่เตรียมการไว้ล่วงหน้าจะส่งผลให้วันที่ 25 ก.ย. 2567 ราคาน้ำมันจะพุ่งสูงขึ้นทันทีตามตลาดโลก โดยเฉพาะราคาดีเซล

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามหากรัฐยังต้องการชดเชยราคาต่อไป จะต้องเสนอ ครม.ขอขยายเวลาออกไปอีก 1 ครั้ง หรืออีก 2 ปี ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะต้องยกเลิกการชดเชยราคาอย่างถาวรจริงในวันที่ 24 ก.ย. 2569 แทน แต่หากต้องการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลตามกำหนดเดิมในวันที่ 24 ก.ย. 2567 นี้ ก็จะต้องบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) ที่อยู่ในแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังจัดทำแผนดังกล่าวอยู่ และใน Oil Plan จะต้องมีความชัดเจนว่าจะให้น้ำมันชนิดใดเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ทั้งในส่วนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์และดีเซล เพื่อดำเนินการทยอยยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันอย่างเป็นขั้นตอน แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังสามารถเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันได้เฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติราคาพลังงานที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงประเทศ  

แม้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจะพิจารณาเห็นว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และไบโอดีเซล B10 ควรเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ซึ่งทุกปั๊มต้องมีการจำหน่ายน้ำมันสองชนิดนี้เป็นหลัก ส่วนชนิดอื่นจะมีจำหน่ายหรือไม่ก็ได้ และพยายามสร้างส่วนต่างราคาระหว่าง แก๊สโซฮอล์ E20 ให้มีราคาถูกกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ประมาณ 3 บาทต่อลิตร เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้ แก๊สโซฮอล์ E20 ให้มากที่สุด

แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบทิศทางนโยบายแน่ชัดว่าระหว่างน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 รวมถึงไบโอดีเซล B10 และ B7 นั้น ภาครัฐจะให้ใช้น้ำมันชนิดใดเป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้เบื้องต้นคงต้องรอให้ผ่านพ้นช่วงการปรับลดราคาเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 1-2.50 บาทต่อลิตร ในช่วงสิ้นเดือน ม.ค. 2567 ก่อน เพื่อให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์คืนสู่ภาวะปกติ จากนั้นจึงจะได้มีการหารือถึงทิศทางการยกเลิกชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป  

ทั้งนี้การเลือกชนิดน้ำมันพื้นฐานของประเทศมีส่วนสำคัญกับผลผลิตของเกษตรกรทั้งเอทานอลและปาล์น้ำมันที่ผสมลงในน้ำมันแต่ละชนิด เช่น หากเลือกแก๊สโซฮอล์E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานแทนแก๊สโซฮอล์ 95 ก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้เอทานนอลสูงขึ้น เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ E20 มีส่วนผสมของเอทานอล 20% ในน้ำมันเบนซินทุกลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์ 95 มีส่วนผสมเอทานอลเพียง 10% ในเบนซินทุกลิตร ขณะที่ไบโอดีเซล B10 มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในน้ำมันดีเซลทุกลิตร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในกรณีหากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้ทันในเงื่อนเวลาครั้งสุดท้ายปี 2569 (ซึ่งจะเป็นการขอขยายเวลาครั้งที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้าย) กระทรวงพลังงานจะต้องทำเรื่องขอแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับเรื่องการยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพแทน ก่อนที่จะครบกำหนดเวลาดังกล่าว

Advertisment

- Advertisment -.