- Advertisment-

งาน “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในโอกาสที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ครบรอบ 30 ปี ชี้ให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมของธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน รวมถึงสถาบันการเงิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่นายกรัฐมนตรีไทยประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเอ็กโก กรุ๊ป นำเสนอให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2022 ให้รองรับพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในภูมิภาคเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า เมื่อไทยกำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ประเทศไทยต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เนื่องจากที่ผ่านมาการส่งเสริมพลังงานสะอาดมีการซื้อเทคโนโลยีเข้ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS ดังนั้นเมื่อไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีแล้ว ก็ควรจะต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและดึงการลงทุนเข้ามา เพื่อใช้โอกาสนี้ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกเทคโนโลยีไปยังประเทศในแถบอาเซียน เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศด้วย

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าภาครัฐควรปรับ PDP 2022 เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดอื่น ๆ ที่เป็นพลังงานทางเลือกด้วย เช่น ไฮโดรเจน และการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor – SMR) ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีเสถียรภาพ และราคาเริ่มเแข่งขันได้ เพราะพลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่มีอยู่ในแผน PDP 2022 นั้น อาจจะยังไม่เพียงพอตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้โดยสมบูรณ์ เพราะปัจจุบันสามารถพึ่งพาได้เพียง 20% ของกำลังการผลิตติดตั้ง หากจะให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะต้องมีการลงทุนระบบแบตเตอรี่เพิ่มเติม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง

- Advertisment -

ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสนใจที่จะมุ่งสู่พลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น จึงเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ในสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการนำโฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในสัดส่วน 40% ร่วมกับเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้มีการดำเนินการสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย คือ BLCP โดยมีการศึกษาโครงการต้นแบบใช้แอมโมเนีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไฮโดรเจน เข้าไปเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 20% ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง

นายเทพรัตน์ยังได้สะท้อนมุมมองโดยสรุปได้ว่า หากประเทศไทยมีการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ให้มีนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเข้าไว้ด้วย ก็จะเป็นพลังงานทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีราคาแพงอย่างในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเทียบราคาไฮโดรเจนกับราคา LNG ตลาดจร (Spot LNG) ในปัจจุบันแล้ว หากนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จะมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจาก LNG  

สำหรับไฮโดรเจนที่นำมาผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันมีวิธีการได้มาหลายแบบ จึงมีการกำหนดสีของไฮโดรเจนตามวิธีการผลิตไฮโดรเจน อาทิ สีน้ำตาล สีเทา เป็นไฮโดรเจนที่มาจากก๊าซธรรมชาติ ไฮโดรเจนจากถ่านหินจะเรียกว่าบลูไฮโดรเจน ส่วนไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์และพลังงานลม จะเรียกว่า กรีนไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังมีพิงค์ไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์ โดยเทคโนโลยีเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนนั้น ยังไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับเหมือนก๊าซธรรมชาติ

นอกเหนือจากพลังงานไฮโดรเจนแล้ว เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ศึกษาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) แบตเตอรี่ และการลงทุนเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor) ที่สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าในระบบขนาด 50-300 เมกะวัตต์ด้วย

ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ทิศทาง Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth มุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมอยู่ที่ 1,424 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัทอยู่ที่ 6,377 เมกะวัตต์ ใน 8 ประเทศ และมีเป้าหมายระยะกลางที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ที่ 30% และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี ค.ศ. 2030 และได้ตั้งเป้าหมายระยะยาว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ไว้ในปี ค.ศ. 2050

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวถึงสถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศว่า อยู่ที่ 131.8 ล้านตันคาร์บอน เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อน โดยภาคที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด คือ ภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนเท่า ๆ กันอยู่ที่ 32% หรือกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน ส่วนภาคขนส่ง มีสัดส่วนอยู่ที่ 30% และภาคอื่น ๆ อีกประมาณ 7% ดังนั้น เมื่อรวมภาคพลังงานและภาคขนส่งทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์อยู่ที่ 62% ถือเป็นสัดส่วนที่สูง เพราะว่าประเทศไทยมีการใช้รถยนต์สันดาปภายในที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนประมาณ 98%

ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งต่อไปจะมีการปรับแยกระบบสายส่งไฟฟ้าต่างหากเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ถ้าหากบริษัทที่ต้องการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดก็สามารถนำไปใช้ได้เลย เช่นเดียวกับทาง เอ็กโก กรุ๊ป ก็จะมุ่งไปที่กรีนไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า สิ่งที่ไทยประกาศแนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอนเอาไว้ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งหมายถึงว่าปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไร ก็ต้องมีวิธีการที่จะดูดซับกลับไปเท่านั้น ทำให้ต้องมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพิ่มเติมกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง การปลูกป่าเพิ่มพื้นที่การดูดซับคาร์บอน รวมไปถึงการมีมาตรการด้านกฎหมายที่จะจัดเก็บภาษีคนที่ปล่อยคาร์บอน หรือ carbon tax เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป เช่น สวิสเซอร์แลนด์ และเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์  ที่มีกฎหมายเรื่องนี้ออกมาใช้แล้ว โดยมองว่าเรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน หากไทยไม่เดินตามทิศทางของโลก จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้

สอดคล้องกับมุมมองของ นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม  สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ระบุถึงนโยบายของธนาคารว่า มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี ค.ศ. 2030 และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2050 โดยจะลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เหลือศูนย์ และเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนเป็น 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงเดินหน้าส่งเสริมตลาดการเงินสีเขียวในประเทศไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

Advertisment

- Advertisment -.