4 ปี ซีอีโอ ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กับความก้าวหน้าภายใต้วิสัยทัศน์  Powering Life with Future Energy and Beyond

635
- Advertisment-

การขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเสาหลักด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ อย่าง ปตท. ให้เติบโตก้าวไปข้างหน้า ในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ( Energy Transition )ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Decarbonization ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับองค์กรซึ่งมีธุรกิจก๊าซและน้ำมัน เป็นธุรกิจหลัก แต่ภายใต้การบริหารของ คุณอรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ซีอีโอ คนที่ 10 ที่จะทำงานครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 13 พ.ค. 2567 นี้  ถือว่าสอบผ่าน  โดยเห็นได้จากผลการดำเนินงานของ ปตท. และความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ  ภายใต้ วิสัยทัศน์  Powering Life with Future Energy and Beyond “ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่เป็นเหมือนเข็มทิศนำทางองค์กร ไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ  แม้ว่าระหว่างทางจะผ่านเผชิญกับแรงกระแทกสำคัญจากทั้งผลพวงของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างความผันผวนอย่างมากต่อราคาพลังงานของโลก และวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศต่อเนื่องข้ามปี 

วิสัยทัศน์ใหม่ เข็มทิศการขับเคลื่อนธุรกิจ สู่เป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2583

โดย คุณอรรถพล ได้เล่าบรรยายให้คณะสื่อมวลชนที่มีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของ กลุ่ม ปตท. ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 21 – 27 มีนาคม  2567 ที่ผ่านมาได้รับฟัง และนำมาถ่ายทอดต่อ

- Advertisment -

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ กลุ่ม ปตท.ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ เพื่อจะช่วยให้ค่าเฉลี่ยของประเทศดีขึ้น ในกรณีที่องค์กรอื่นๆ ยังไม่มีความพร้อมหรือทำได้ช้ากว่าเป้าหมาย

การมุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Decarbonization ทำให้กลุ่ม ปตท.ประกาศเป็นแผนปฏิบัติการหรือ Action plan มีการปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งสู่ธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน  ธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน ( Beyond Energy ) อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) อาทิ ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)

โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานใน 3 ด้าน คือ

1. Business Growth ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยมีการขายธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูงออกทั้งหมด

2. New Growth ธุรกิจพลังงานใหม่และธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากพลังงานต้องสร้างกำไรในปี 2573 มากกว่าร้อยละ 30 พร้อมลงทุนและเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่เป็น Future Energy และกลุ่ม Beyond Energy

3. Clean Growth ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบจากปี 2563 (ค.ศ.2020) ลง15% ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลักเดิม

ในส่วนของธุรกิจเดิมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ ปตท. ทั้ง ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจน้ำมัน และปิโตรเคมี ที่แบ่งออกเป็น ธุรกิจขั้นต้น ( Upstream ) และธุรกิจขั้นปลาย (Downstream) ในช่วงปี 2563-2566 ยังเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ธุรกิจยังคงมีความเข้มแข็งและเติบโตต่อไป ถึงแม้คุณอรรถพล จะมองว่าแนวโน้มในระยะต่อไปการเติบโตของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมัน จะลดลง โดยธุรกิจน้ำมันนั้น น่าจะถึงจุดpeak ในปี 2573 ซึ่งโรงกลั่นน้ำมันจะยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ ถ้าถึงเวลาที่จะต้องปิดตัวลง โรงกลั่นในกลุ่ม ปตท.จะปิดตัวเป็นโรงสุดท้าย

โดยไฮไลท์สำคัญที่เกิดขึ้นในธุรกิจหลักของ ปตท.นั้น  คุณอรรถพล แจกแจงให้ฟังว่า

ในขั้น Upstream  ปตท.สผ. สามารถชนะการประมูลและได้รับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลง G1/65 และ G3/65   การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลง G1/61หรือแหล่งเอราวัณ เดิม จาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเมื่อเดือน มิ.ย.2566 เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 เป็นต้นไป การลงนามในสัญญาซื้อขาย สัดส่วน 33.33%  จาก Total Energies EP Thailand ในแปลง G12/48  ทำให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย

G1/61หรือแหล่งเอราวัณ เดิมผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มจาก 400 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันเป็น 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายน 2567
ธุรกิจ LNG

ในธุรกิจ LNG   ทาง PTTL ได้เปิดดำเนินการ LNG Terminal แห่งที่ 2 แล้วและอยู่ระหว่างการสร้างท่อเชื่อมกับ LNG Terminal แห่งที่ 1 เพื่อความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติของประเทศ ให้ การรับ โอนจ่าย ย้าย เก็บ มีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการขยายช่องทางการตลาด  และเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว ปตท.มีการเซ็นสัญญาซื้อLNG ระยะยาว 20 ปี ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี กับบริษัท Cheniere Energy ของสหรัฐอเมริกา กำหนดส่งมอบในปี 2569 ซึ่งเป้าหมายในปี 2573 ปริมาณ LNG ที่กลุ่ม ปตท.จัดหาจะมีปริมาณ 9 ล้านตันต่อปี ทั้งในรูปของสัญญาระยะยาวและแบบ Spot

ขั้น Downstream ในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี ปตท.เน้นสร้าง Synergy Values ภายในกลุ่มภายใต้โครงการ Project One ที่ช่วยลดต้นทุนได้ถึง 180 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566  ในขณะที่ GC มีโครงการโอเลฟินส์ แห่งที่ 2 ที่มีการ Modify ปรับแต่งให้สามารถรับวัตถุดิบคือโพรเพนได้ยืดหยุ่นมากขึ้น เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ไปเมื่อไตรมาส 3 ปี 2566   ส่วนโครงการ Clean Fuel Project หรือ CFP ของไทยออยล์ ก็สามารถผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ออกสู่ตลาดได้เรียบร้อยแล้วในไตรมาสแรกปี 2567 นี้ และโครงการ Ultra Clean Fuel ของ ไออาร์พีซี  ก็เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรก ปี 2567 เช่นกัน

“ ในธุรกิจหลักที่ ปตท.มีบทบาทในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ถือว่าประสบความสำเร็จ แม้ตอนที่ก๊าซและน้ำมันจะมีราคาแพง ขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดภาวการณ์ขาดแคลนในบางประเทศ แต่สำหรับประเทศไทย เราไม่เคยมีปัญหาการขาดแคลน  เพราะเรามีขีดความสามารถในการจัดหาและเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ทั่วโลก ซึ่งต้องเข้าใจว่า ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการขาดแคลนพลังงานนั้น มีผลกระทบมากกว่าพลังงานราคาแพงตามราคาตลาดโลก “ คุณอรรถพล กล่าวให้เห็นภาพรวม

อรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. บรรยายให้คณะสื่อมวลชนทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ  ภายใต้ วิสัยทัศน์  Powering Life with Future Energy and Beyond

เร่งผลักดันธุรกิจใหม่ตามวิสัยทัศน์

ในธุรกิจ Future Energy

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นั้น ในช่วงประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ในปี 2563 นั้น ปตท.มีจำนวนเมกะวัตต์ของ Renewable Energy อยู่ 533 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2566 สามารถขยายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,906 เมกะวัตต์แล้ว และตั้งเป้าจะไปให้ถึง 15,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยสัดส่วนไฟฟ้าที่เป็น Fossil Fuel อยู่ที่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์  โดยไฮไลท์การลงทุนที่สำคัญคือ ในปี 2564 ลงทุนในโรงไฟฟ้า Sheng Yang Energy และพลังงานลม Changfang&Xidao ที่ไต้หวัน และซื้อหุ้นเพิ่มทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Avaada ในอินเดีย (ปัจจุบันถือ 42.93%)  และ ปี 2566 ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้า Solar Farm ทั้งในไทยและอินเดียกำลังการผลิตรวม5,182 เมกะวัตต์ ( คิดตามสัดส่วนการถือหุ้น อยู่ที่ 2,229 เมกะวัตต์)

ไฮโดรเจนพลังงานแห่งอนาคต

ปตท.มองว่าไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งได้มีการศึกษาร่วมกับทาง ACWA Power ของซาอุดิอาระเบีย  ที่ใกล้จะมีข้อสรุปให้รัฐบาล ได้เห็นว่า ต้นทุนของไทยในการผลิตไฮโดรเจนนั้น สูงกว่า ซาอุดิอาระเบีย ค่อนข้างมาก และจะมีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าควรจะต้องมีการสนับสนุนส่งเสริมอย่างไร เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้  ส่วนในโครงการทดลองนั้น ที่ ปตท. โออาร์ โตโยต้า และ บีไอจี  มีการตั้งสถานี เติมไฮโดรเจน เพื่อรองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก แล้ว ส่วนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้เงินลงทุนสูง เป็นโครงการของ ปตท.สผ. ที่พัฒนากรีนไฮโดรเจน ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี กำหนดแล้วเสร็จปี 2573

ธุรกิจ EV Value Chain ครบวงจร

มีการจัดตั้ง บริษัท Arun Plus เพื่อดำเนินธุรกิจ EV Value Chain อย่างครบวงจร

โดย Raw Material ทาง IRPCและ GC อยู่ระหว่างศึกษาความร่วมมือในธุรกิจส่วนประกอบรถ EV ส่วนธุรกิจแบตเตอรี่  ทาง Arun Plus และ CATL ได้มีการลงนามสัญญาจัดตั้งโรงงาน Cell-To-Pack assembly plant เปิดดำเนินการปี 2567  ส่วน Nuovo+ ร่วมมือกับ GOTION ตั้งบริษัท NVGOTION สร้างโรงงานแบตเตอรี่ ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว ส่วน Product Platform บริษัท HORIZON+ มีการก่อสร้างโรงงานในเฟสแรกแล้ว อยู่ระหว่าง เจรจากับพาร์ทเนอร์ OEM ที่จะจ้างผลิต  

รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ทาง Arun Plus ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ Aionex เพื่อจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 ล้อ  ส่วน E-BUS และ E-Truck ทาง Arun Plus รวมกับพันธมิตร ทั้ง SANY-Leadway-Rootcloud ร่วมหาโอกาสทางธุรกิจ E- Truck และ E-Mobility ในไทยและอาเซียน

Ev Charging  ทางโออาร์ทำให้เราสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั่วประเทศแล้ว โดยมีการลงทุนสถานีชาร์จแล้ว 859 แห่ง  ส่วน On-ion มีการลงทุน Public Chargers แล้ว 64 สถานี 454 หัวจ่าย ส่วน After Sale Service  ทางโออาร์ จับมือกับ EVme ลงนามเอ็มโอยู ยกระดับธุรกิจและการบริการซ่อมบำรุง ผ่าน FIT Auto และแพลตฟอร์ม EVme 

 ผลักดันธุรกิจ Beyond หรือธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน 

ในภาพรวมนับตั้งแต่ปี 2563-2566 กลุ่ม ปตท.มีการตั้งบริษัทใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 231 บริษัท โดยที่น่าสนใจคือ อินโนบิก ที่เป็น แกนในการลงทุนในธุรกิจ Life Science ที่เน้นใน 3 ส่วนคือ 

ธุรกิจยา ( Pharmaceutical )

โดยอินโนบิก เข้าลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 37.77% ในกลุ่ม Lotus ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำของไต้หวัน  ที่กำลังเปิดตลาดยารักษาโรคลูคีเมียในตลาดสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมูลค่าหุ้นที่ถือใน Lotus เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเริ่มต้นที่เข้าไปถือ  นับได้ว่าเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ การลงทุนกับ Interpharma ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพครบวงจร  และร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษานวัตกรรม “มณีแดง” ต้านเซลล์ชรา และจับมือกับ Aztiq ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการสร้างโรงงานยา Biosimilar ในไทย

โรงงานผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก แห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ อยุธยา

ธุรกิจโภชนาการ (Nutrition )

มีการออกผลิตภัณฑ์ 6 ชนิดสู่ตลาด  การร่วมทุน 51% กับ Plant& Bean (UK) สร้างโรงงานผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกในประเทศไทย  ที่เปิดดำเนินการแล้ว ในขณะที่ตั้ง alt. เปิด Community อาหาร plant-based

ธุรกิจ Medical Device & Technology  

ร่วมทุน 40%กับ IRPC ตั้งโรงงานผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric ) ลงทุน 17.5% กับบริษัทนำวิวัฒน์ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์กลุ่มปราศจากเชื้อ  และมีการวางจำหน่าย 7 ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

ธุรกิจโลจิสติกส์ ของ GML

อีกไฮไลท์ที่น่าสนใจคือ ธุรกิจ โลจิสติกส์ มีการตั้งบริษัท Global Multimodal Logistics -GML เพื่อดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์เชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเพิ่งเปิดได้ไม่นาน มีการขนส่งสินค้าทางรางทั้งในและต่างประเทศกว่า 47 เที่ยว 1,205 คอนเทนเนอร์ ลงนามกับการรถไฟของจีนได้ 5-6 มณฑล ที่การขนส่งทางรางจะสะดวกกว่าการขนส่งทางเรือ โดยในปี2566  GML ที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีรายได้รวมแล้ว 315 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับ AI Robotics & Smart Energy Platform ที่มีการจัดตั้งบริษัท Mekha V มาดำเนินการ โดยไปร่วมกับ WHAUP และ Sertis จัดตั้ง RENEX Technology ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer การให้บริการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs)ที่มีลูกค้าแล้ว 43 บริษัท

ความสำเร็จจากผลการดำเนินงานปี 2566

ผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท  คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ประกอบกับในปี 2566 กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566 แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท. ปรับลดลง โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลงจากปี 2565 อีกทั้งในปี 2566 กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยลดลง ประกอบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ก็มีผลการดำเนินงานที่ลดลง

ทั้งนี้คณะกรรมการ ปตท. มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท โดยได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อเดือนกันยายน 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจปี 2566 ให้กับรัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท

PTT Net Zero emissions

กลุ่ม ปตท. มี “แนวทางการดำเนินงาน 3P ” เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

Pursuit of Lower Emissions

การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมาย Clean Growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

Portfolio Transformation

สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) เพิ่มสัดส่วน Green portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ 

การปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคตจากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ทำให้โรงแยกก๊าซไม่ต้องดำเนินการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท. 

Partnership with Nature and Society

การเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียวพร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ปตท. มีเป้าหมายในการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม

โดยการปลูกป่าใหม่ (Reforestation) นั้น กลุ่ม ปตท. ลงนาม MOU การปลูกป่าเพิ่มจำนวน 2 ล้านไร่ (ปตท. ปลูกเอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในกลุ่มรวมอีก 1 ล้านไร่) ได้ Kick off โครงการ ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 66

ภาพความก้าวหน้าการดำเนินการตลอดช่วง 4 ปี ที่สรุปจากการบรรยายของคุณอรรถพล น่าจะเป็นบทพิสูจน์ความตั้งใจและความทุ่มเททำงานของคุณอรรถพล ซีอีโอ ปตท. คนที่ 10 ให้ก้าวลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม 

Advertisment