“โคราช” เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 9.9 เมกะวัตต์ แก้วิกฤตขยะล้นเมือง

- Advertisment-

จังหวัดนครราชสีมา เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร และขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้มีปริมาณขยะเหลือรอการกำจัดอย่างถูกต้องมากกว่า 300 ตันต่อวัน ด้าน กกพ. หนุนเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสานร่วมตระหนักรู้แนวทางการจัดการปัญหาขยะด้วยการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า

จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัน และมีขยะส่วนหนึ่งถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ที่ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการดำเนินการจัดการขยะอย่างถูกต้องครบวงจร โดยคัดแยกขยะและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการขยะ ทำให้นอกจากจะกำจัดขยะด้วยการฝังกลบแล้ว ยังได้ผลผลิตจากกระบวนการ คือ ปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ โดยยังนำก๊าซฯ ที่ได้ไปเป็นเชื้อเพลิงปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังการผลิต 800 กิโลวัตต์ นอกจากนั้น ขยะบางส่วนยังมีเอกชนมารับซื้อเพื่อไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ใช้ในโรงงานผลิตปูนซิเมนต์อีกด้วย

บริเวณหลุมฝังกลบของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการกำจัดโดย “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราว 440 ตัน ในปี 2561 – 2562 เพิ่มขึ้นเป็นกว่าวันละ  450 ตัน ในปี 2563 ซึ่งสูงเกินระบบการจัดการของศูนย์ฯ ทำให้มีขยะชุมชนที่ยังไม่ได้จัดการจำนวนมาก จึงมีแผนที่จะจัดการขยะเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมา การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะมักมีปัญหา จึงยังมีความจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะกับคนในท้องถิ่นและชุมชนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

- Advertisment -

นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา จึงได้เปิดบ้านต้อนรับคณะสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และสระบุรี เข้าเยี่ยมชมกระบวนการจัดการขยะของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมให้ข้อมูลการกำจัดขยะของศูนย์ฯ ดังกล่าว ซึ่งรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง 29 แห่ง เข้ามากำจัดในแต่ละวันมากกว่า 450 ตัน แต่ที่ผ่านมาระบบสามารถกำจัดขยะได้ไม่เกิน 230 ตันต่อวันเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันประสบปัญหาการทำงานของเครื่องมือในการคัดแยกและกำจัดขยะหลังดำเนินการมากว่า 10 ปี ทำให้ความสามารถในการกำจัดลดลงเหลือเพียงประมาณ 100 ต่อวัน ปัจจุบันพื้นที่กว่า 73 ไร่ ของศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลฯ จึงเต็มไปด้วยกองภูเขาขยะที่รอการกำจัด

ดังนั้น เพื่อแก้วิกฤตขยะดังกล่าว เทศบาลนครนครราชสีมาจึงได้ขออนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ระยะที่ 2 ขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ โดยจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% และต้องรับขยะจากเทศบาลไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถรองรับขยะจากท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 700 ตันต่อวัน ทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะลดลงจากปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจากขยะที่จะตั้งขึ้นจะมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงไฟฟ้าและการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด

บุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา (ซ้าย) และ ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ อาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา (ขวา)

ด้าน ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ในฐานะที่ มทส. เป็นที่ปรึกษาโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ ของเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์นี้ จะสามารถแก้ปัญหาขยะตกค้างของเทศบาลฯ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่จัดทำแผนมานานหลายปี จึงต้องทำการทบทวนหรือปรับปรุงแผน (Revised) ใหม่อีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการจัดจ้างภาคเอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้าง โดยคาดว่าในปี 2564 จะเริ่มการก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถรองรับปริมาณขยะได้เกือบ 1,000 ตันต่อวัน    

คณะสื่อมวลชนท้องถิ่นเยี่ยมชมศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา

สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” ของกลุ่มสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคอีสานครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story)” ครั้งที่ 3 ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ มีสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดและสื่อภาคพลเมือง ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และสระบุรี จำนวนทั้งสิ้น 60 คน ที่มาเข้าร่วมการจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 ณ โรงแรมรายาแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

นางชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานของสำนักงาน กกพ. คือ พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารหรือส่งต่อข้อมูลและแนวคิดในเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง จึงคาดหวังว่าโครงการ Waste Side Story ครั้งที่ 3 จะมีส่วนช่วยให้สื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากขยะอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมในการผลิตและสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าสนใจ เพื่อขยายผลเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะต่อไป

ชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) (ซ้าย) และ ทวีสุข นามวงษา ผู้ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) (ขวา)

ขณะที่ นายทวีสุข นามวงษา ผู้ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) ขยายความเข้าใจในเรื่อง “พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชุมชน” โดยเน้นย้ำในเรื่องของการคัดแยกขยะ ที่จะทำให้ได้ขยะหลากหลายประเภทที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ รวมทั้งนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากกระแสไฟฟ้าที่ได้จากขยะในท้องถิ่นของตนเอง และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ พร้อมชี้ว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาปริมาณขยะล้นเมืองเกินการจัดการ จนทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งเรื่องกลิ่น น้ำเสีย และเชื้อโรคต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดปริมาณขยะลง อย่างไรก็ตาม วิธีเผาทำลายก็มีมลพิษสูง ส่วนวิธีการฝังกลบนั้นพื้นที่ไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมักเกิดแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่รัฐจะทำหลุมฝังกลบเพิ่ม ทำให้ขยะที่ล้นจากระบบบริหารจัดการสะสมกองสูงเป็นภูเขารอการจัดการ ดังนั้น จึงเป็นการดีหากสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีการควบคุมโรงไฟฟ้าทั้งด้านกลิ่น ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียก่อนออกจากโรงไฟฟ้า

นายทวีสุข ยังให้ข้อมูลด้วยว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะจากชุมชน โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี2018 ฉบับล่าสุด ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากท้องถิ่นแล้ว จึงจะสามารถก่อสร้างได้ตามมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลังได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าแล้ว ผู้ประกอบการหรือโรงไฟฟ้าจะต้องส่งรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าและปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางเสียง และน้ำ ในทุก 6 เดือน โดยมีสำนักงาน กกพ. เป็นผู้ตรวจสอบและกำกับดูแลโรงไฟฟ้าให้ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ จะทำให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีรายได้เสริมจากการขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และก็ยังลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่ปัจจุบันมีราคาสูงลงได้อีกด้วย

สื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น สระบุรี ร่วมกิจกรรม Waste Side Story Camp ครั้งที่ 3

 


 

Waste Side Story Camp #3

การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Waste Side Story” ครั้งที่ 3 นี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กับสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมแนะนำเทคนิคการรายงานข่าวแบบเรื่องเล่า (Story Telling) สำหรับสื่อมวลชนท้องถิ่น ที่จะต้องพัฒนาทั้งกลยุทธ์และวิธีการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ โดนใจ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัย เพื่อสื่อสารและนำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ สามารถส่งต่อความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสู่ชุมชนได้อย่างถูกต้อง

วิศรุต เคหะสุวรรณ เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ (ซ้าย) , รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ที่ 2 จากซ้าย) , สุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม (ที่ 2 จากขวา) และ วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (ขวา)

“ธวัลรัตน์ แดงเจริญ” ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการ Waste Side Story ในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าการผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ แล้ว รวมทั้งยังได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการนำขยะมูลฝอยมาผลิตไฟฟ้า จากที่เคยเพียงแค่ได้ยินจากชาวบ้าน หรือเห็นจากข่าวตามสื่อต่าง ๆ แต่ไม่เคยได้รู้ว่ากระบวนการนำขยะที่ไม่ใช้งานแล้วมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้านั้นมีขั้นตอนการผลิตอย่างไร ซึ่งการได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้รู้ว่าขยะมีประโยชน์ มีคุณค่า และยังสร้างเครือข่ายของสื่อมวลชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

ธวัลรัตน์ แดงเจริญ ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี (ซ้าย) และ สถาพร ระวิสิทธิ์ ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น (ขวา)

เช่นเดียวกับ “สถาพร ระวิสิทธิ์” ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ต้องการให้กิจกรรรมดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยให้สื่อมวลชนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนได้เห็นคุณค่าของขยะ ที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวและชุมชนได้ จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องหันมาคัดแยกขยะ เพราะ “ขยะ” นอกจากจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักและผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนแล้ว ก็ยังได้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมขอบคุณคณะวิทยากรและผู้จัดทำโครงการฯ ที่ทำให้สื่อมวลชนท้องถิ่นหลายแขนงได้รับองค์ความรู้ สามารถต่อยอดและกระจายข่าวสารให้พี่น้องประชาชนต่อไปได้

#wastesidestory #wastetoenergy #wastesidestorycamp3 #พลังงานไฟฟ้าจากขยะ

Advertisment

- Advertisment -.