แรงงาน กฟผ. เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านภาคพลังงานสู่ธุรกิจสีเขียว

- Advertisment-

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงภาคพลังงาน สู่พลังงานสะอาด จัดเสวนา   “เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย เป็น ธรรม หรือ ทำตามใคร” นักวิชาการแนะรัฐให้เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม ให้แรงงานเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่าน ป้องกันผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ และควรฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดเสวนา “เปลี่ยนผ่านพลังงานไทย เป็น ธรรม หรือ ทำตามใคร”โดยมีทั้งอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ. และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมงาน โดยการเสวนาจะมุ่งเน้นทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมพลังงาน ที่จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน และการปรับตัวของแรงงานไทยในอนาคต

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ภัยพิบัติขั้นหายนะทางธรรมชาติ ส่งผลให้ทั่วโลกมุ่งเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน และยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่กระทบต่อภาคแรงงานด้านพลังงานด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ประมาณ 24 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 แต่ในทางกลับกันก็จะมีตำแหน่งงานที่สูญหายไปกว่า 6 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งการเคลื่อนย้ายไปหาตำแหน่งงานใหม่ทดแทนตำแหน่งงานเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเกิดการตกงานก่อน แล้วจึงได้งานตำแหน่งใหม่ หรือการที่ตำแหน่งงานใหม่ต้องมีทักษะที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลต่อภาคแรงงานโดยตรงด้วย

- Advertisment -

ดังนั้นแนวทางหลักที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานมากนัก คือ ต้องให้แรงงานเป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม หรือ การเปลี่ยนผ่านต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากเกินไป เช่น นโยบายที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หากมีการนำเข้ารถ EV มาจากประเทศจีนเพื่อจำหน่ายในไทย ต้องพิจารณาว่าไทยจะได้ประโยชน์อะไร ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจมีการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่, ที่ชาร์จ และได้พลังงานสะอาด แต่ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับแรงงานในภาคชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป ธุรกิจน้ำมัน โรงกลั่น เกษตรกรผู้ผลิตพืชพลังงาน และเหมืองถ่านหิน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐต้องดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

“นโยบายลดโลกร้อน ต้องเป็นธรรมต่อคนงาน สร้างงานที่ดี มีคุณค่า มีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือ มีการคุ้มครองทางสังคม ภาระการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จะต้องไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้คนกลุ่มเดียว นโยบายนี้ภาครัฐสามารถนำไปปรับใช้ได้”

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศมีการทำตัวชี้วัด 6 ด้าน เพื่อรายงานให้ประชาคมโลกได้รับรู้ ซึ่งในประเทศไทยมี กฟผ.และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำตัวชี้วัดดังกล่าว ซึ่งมีการให้คะแนนอย่างเป็นระบบในการประเมินของนานาชาติ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม ซึ่งได้แก่ 1.มีการจัดเสวนา 2.มีการวางแผนในการเปลี่ยนผ่าน 3.บริษัทมีลักษณะสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวกับงานรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ งานสีเขียวหรือไม่ 4.รักษาการจ้างงานไว้ได้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงทักษะแรงงานหรือไม่ 5.การให้ความคุ้มครองทางสังคม และ 6. บริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมด้านนโยบายรัฐได้มากน้อยเพียงใด

ตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านที่ดี เช่น ประเทศเยอรมนี มีการปิดธุรกิจเหมือง เพื่อจัดทำเป็นเมืองอัจฉริยะ และเป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม มีสถาบันการศึกษา นักวิจัยชั้นนำจำนวนมาก โดยเยอรมันใช้วิธีตั้งคณะกรรมาธิการการเลิกใช้ถ่านหิน โดยนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางแผนในการยกเลิกเหมืองถ่านหิน และวางแผนร่วมกันว่าในอนาคตจะให้เหมืองถ่านหินกลายเป็นอะไร และจะดูแลคนงานอย่างไร เป็นต้น

ดังนั้นหากไทยจะต้องเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหิน หรือ ไปสู่อุตสาหกรรมรถ EV ภาครัฐจะต้องเตรียมกระบวนการเปลี่ยนแปลง พร้อมวางแผนรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย และการเปลี่ยนแปลงต้องมีคนเป็นศูนย์กลาง

 ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภาคพลังงานจากฟอสซิลไปสู่พลังงานทดแทน เป็นเรื่องที่ทัดทานได้ยาก โดยเฉพาะเหมืองถ่านหินแม่เมาะก็ต้องเกิดการเปลี่ยนผ่าน แต่ต้องวางแผนว่าถ้าเปลี่ยนผ่านแล้วใครได้-ใครเสีย และผู้ใช้แรงงานจะมีอนาคตอย่างไร? ซึ่งการเปลี่ยนผ่านย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคง รายได้ และความรู้สึก

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนผ่านอาจจะมาใน 2 แนวทางคือ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไฟฟ้า และ การแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเมื่อไม่สามารถทัดทานการเปลี่ยนผ่านได้ ภาคแรงงานจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ เช่น หากมีการเลิกจ้างงาน จะต้องมีการจ่ายชดเชย แต่แรงงานจะต่อรองกับใคร และจะเอาอะไรไปต่อรอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมคิดไว้ล่วงหน้า

“การเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรมจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อสหภาพแรงงานมีอำนาจต่อรอง ไม่ใช่นั่งรอให้กฎหมายบอกว่าให้ หรือไม่ให้ เพราะกฎหมายแรงงานก็เกิดจากการเรียกร้องกันมาก่อน ดังนั้นต้องถามตัวเองว่าเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ใครจะเตรียมการ ใครจะออกเงิน ใครจะรับผิดชอบ และเงินชดเชยควรได้อย่างไร ต้องถามตัวเองตั้งแต่ตอนนี้”

Advertisment

- Advertisment -.