เขียนเล่าข่าว​ EP. 26​ ความเคลื่อนไหวในธุรกิจน้ำมัน​ที่น่าจับตา

- Advertisment-

ผ่านเดือนมกราคม​ ​ปี​ 2566​ มีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามในวงการธุรกิจน้ำมัน​ ธุรกิจที่มีมาร์จินต่ำ​ แต่มีผลกระทบต่อประชาชนสูง​ แม้นโยบายรัฐจะเน้นย้ำเสมอว่าเป็นตลาดการค้าขายเสรี​ น้ำมันไม่ใช่สินค้าควบคุม​ ผู้ค้าใครอยากจะตั้งราคาขายอย่างไรก็ย่อมได้​ แต่เมื่อรัฐส่งสัญญาณขอความร่วมมือทีไร​ ผู้ค้า​ก็ต้องยอมพร้อมให้ความร่วมมือ​ ยกตัวอย่างกรณีที่เรี่ยไรเงินจากโรงกลั่นกลุ่ม ปตท.​ร่วม​ 3​ พันล้านบาทมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน​ หรือ​ การขอความร่วมมือ​ ให้ผู้ค้าคิดค่าการตลาดดีเซล​ที่ 1.40​ บาทต่อลิตร​ แม้ผู้ค้าแบรนด์​ต่างชาติบางรายจะไม่ให้ความร่วมมือ​แต่ทั้ง​ โออาร์และ​บางจาก​ นั้นพร้อมมาก

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของ​บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ​โออาร์​ คือการได้​ CEO​หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร​คนใหม่​ คุณ​ ดิษทัต ปันยารชุน ที่จะมานำองค์กร​ โดยมีแม่บ้านอย่าง​ คุณสุชาติ​ ระมาศ​ นั่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ หรือ President​ มาช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ​

- Advertisment -

เดิม​ตำแหน่ง​ CEO​&President​ ของโออาร์​ นั้นรวมอยู่ใน​ จิราพร​ ขาวสวัสดิ์​ เพียงคนเดียว​ คราวนี้บอร์ดแบ่งครึ่งให้​ทั้ง​ คุณดิสทัต​ และคุณสุชาติ​ มาช่วยกัน​ จะขับเคลื่อนโออาร์ได้ดีกว่าเดิมมั๊ย​ ก็ต้องรอดูที่ผลประกอบการ

คุณดิสทัต​ พูดในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชน​ เมื่อวันที่​ 19 ​ม.ค.​ที่ผ่านมาว่า พร้อมสานต่อ วิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” ด้วยแนวคิด “RISE OR” คือ
Result : การมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่เป็น รูปธรรม, Intelligence : การตัดสินใจที่ฉลาดบนพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ, Synergy : การผนึกกำลังของธุรกิจทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม ปตท., Entrepreneurship : การทุ่มเทในบทบาทหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ)

ต้องตามดูฝีมือว่าจะแปลงแนวคิดที่เป็นนามธรรม​ ให้กลายเป็นรูปธรรมได้อย่างไรแค่ไหน​ในปีนี้​ โดยโออาร์ตั้งงบลงทุนในแผน 5 ปี วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในปี 2566 จะใช้ประมาณ 31,000 ล้านบาท เน้นไปในเรื่อง ธุรกิจLife style Mobility​ Global​ และ Innovation​

หันมาดูบางจาก​ ที่บอร์ดอนุมัติเมื่อวันที่​ 11​ม.ค.​2566​ ให้ซื้อหุ้น​จาก ExxonMobil Asia​ Holding​ จำนวน​65.99 % ที่ถืออยู่ในเอสโซ่​(ประเทศไทย)​ จำกัด​ (มหาชน)​ ที่คาดว่าจะใช้เงินประมาณ​ 6​ หมื่นล้านบาท โดยจะได้ทั้งธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปั๊มน้ำมันของเอสโซ่มาไว้ในมือ ดีลนี้คาดว่าจะดำเนินการซื้อกิจการได้เสร็จอย่างเร็ว​ในเดือน ส.ค.​ อย่างช้า​ ธ.ค.​2566​ นี้

ผลจากการซื้อกิจการครั้งนี้​ บางจากจะกลายเป็นเจ้าของโรงกลั่นที่มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศ​ ถึง​ 2.94 แสนบาร์เรลต่อวัน​ และมีจำนวนปั๊มน้ำมันเพิ่มเป็น​ 2,100 แห่งทั่วประเทศ

คุณ​ชัยวัฒน์​ โควาวิสารัช​ ซีอีโอ​ บางจาก​ บอกกับสื่อในวันแถลงข่าวการเข้าซื้อกิจการของเอสโซ่ครั้งนี้​ ที่ใช้เวลาในการเจรจากันมา​ 1​ ปี​ ว่า​จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของบางจากได้สะดวกขึ้น​ โดยดีลครั้งนี้​จะทำให้เกิด​synergy ทางธุรกิจที่จะช่วยให้บางจากประหยัดต้นทุนลงประมาณ​ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี

ในขณะที่ฝั่งเอสโซ่​ จะยังเหลือธุรกิจน้ำมันเครื่องและเคมีภัณฑ์​ และเมื่อเร็วๆนี้​ ทางเอสโซ่​ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารใหม่​ โดยตั้ง คุณสุดา​ นิลวรสกุล​ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ​ และตั้งคุณ​ราตรีมณี​ ภาษีผล​ เป็นกรรมการผู้จัดการ​ แทนคุณ​ อดิศักดิ์​ แจ้งกมลกุลชัย​ ประธานกรรมการ​และกรรมการ​ผู้จัดการ​ที่ยื่นหนังสือลาออก​ โดยตำแหน่งใหม่มีผลเมื่อวันที่​ 28​ ม.ค.2566​ ที่ผ่านมา​

และความเคลื่อนไหวล่าสุด​มาจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ SPRC เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 ที่มีมติอนุมัติกระบวนการควบรวมธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์​ปิโตรเลียม​ ของ​เชฟรอน​ (ไทย​)​ เจ้าของแบรนด์​ “คาลเท็กซ์”และ​ “เทครอน” โดยการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 ใช้เงินประมาณ​155.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรเบิร์ต โดบริค กรรมการและ​ CEO​ ของ​ SPRC

โรเบิร์ต โดบริค กรรมการและ​ CEO​ ของ​ SPRC​ ( เชฟรอน​ ถือหุ้น​ 60​ % )​ บอกว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมครั้งนี้ จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของSPRC ในเชิงกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่คุณค่าที่จะทำให้ SPRC สามารถให้บริการลูกค้าในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น​ โดยจะเป็นการรวมสินทรัพย์ในทำเลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ได้แก่ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการน้ำมันจำนวน 427 แห่งทั่วประเทศ

ปัจจุบัน​ โออาร์ยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมัน​ ในอันดับ 1​ การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ​ ของคู่แข่ง​ทั้งบางจาก​ ที่มีโรงกลั่นเพิ่มขึ้น​ มา​อีก​ 1​ แห่ง​และ​ SPRC​ ที่มีโรงกลั่นขนาด​ 1.7 แสนบาร์เรล​ต่อวัน​ ที่ควบรวมกิจการปั๊มคาลเท็กซ์​ ภายใต้เจ้าของคนเดียวกัน​คือ​ เชฟรอน​ นั้นจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นหรือไม่​ กำไรธุรกิจ​ ดีขึ้นมากกว่าเดิมแค่ไหน​ ปี ​2567​ น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น

Advertisment

- Advertisment -.