สำนักงาน กกพ.คาดค่าไฟฟ้าทั้งปี 2567 ยังแตะระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย

- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) คาดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี 2567 ยังแตะระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย โดยยังไม่รวมหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะอยู่ในระดับ 1.1 แสนล้านบาท หวังได้รับอานิสงส์ปัจจัยบวกจากที่ปริมาณก๊าซฯ แหล่งเอราวัณเพิ่มขึ้นตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือน เม.ย. 2567 และก๊าซฯ จากแหล่งในประเทศเมียนมาร์ไม่หายไป รวมถึงราคา LNG ยังอยู่ระดับ 10-11 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ยอมรับค่าไฟฟ้าไม่สามารถลดต่ำได้ตามที่เอกชนเรียกร้อง 3.60 บาทต่อหน่วย  

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้า 2 งวดที่เหลือของปี 2567 คือรอบเดือน พ.ค.- ส.ค. 2567 และ ก.ย.-ธ.ค. 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.20-4.25 บาทต่อหน่วย เนื่องจากคาดว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าน่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้างวด ม.ค.- เม.ย. 2567 ​ที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้คาดว่าต้นทุนที่เหลือใน 2 งวดสุดท้ายของปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 4.20-4.25 บาทต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 4.20 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่รวมหนี้ค่าเชื้อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ​รับภาระต้นทุนให้ประชาชนไปก่อนรวม 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งหากรวมหนี้ กฟผ. อาจทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ดังกล่าวได้

- Advertisment -

สำหรับต้นทุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นจากสมมติฐานหลายปัจจัย เช่น ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณจะสามารถกลับมาผลิตได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 2567 และปัญหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเมียนมาร์ ว่า จะมีปริมาณลดลงจากที่คาดการณ์​หรือไม่ รวมถึงต้องรอดูราคาก๊าซธรรมชาติ​เหลว (LNG) ประกอบด้วย ซึ่งหากราคา LNG ยังอยู่ระดับปัจจุบันที่ 10-11เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จนถึงเดือนเม.ย. ในปี 2567 ก็มีความเป็นไปได้ที่ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่สูงไปกว่านี้หรือบวกลบนิดหน่อย

“ต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จะมีก๊าซฯ ที่ส่งผิดสัญญา (short fall) รอบใหม่จากแหล่งเอราวัณหรือไม่และจะขึ้นอยู่กับนโยบายการเมือง รวมทั้งราคา LNG ในตลาดโลกด้วย” นายคมกฤช กล่าว

สำหรับข้อเสนอของเอกชนที่เรียกร้องให้ปรับค่าไฟฟ้าลดเหลือ 3.60 บาทต่อหน่วยนั้น ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบัน กกพ.ได้ปรับรื้อและลดต้นทุนทุกช่องทางที่สามารถนำมาช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เหลือเพียงการปรับรื้อโครงสร้างไฟฟ้าทั้งระบบซึ่งก็เป็นเรื่องนโยบายของภาครัฐที่จะต้องดำเนินการ

Advertisment

- Advertisment -.