“สนธิรัตน์”ลงแท่นเอราวัณ ประกาศ เม.ย.นี้เปิดให้ยื่นสำรวจผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่

- Advertisment-

“สนธิรัตน์” ตรวจเยี่ยมแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ กลางอ่าวไทย เป็นครั้งแรก  พร้อมเร่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกประกาศให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ( รอบที่23) ทั้ง3แปลงในอ่าวไทย  รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร ภายในเดือนเมษายนนี้  โดยหวังให้อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นอีกหนึ่งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  หลังจากที่ไม่ได้มีการดำเนินการสำรวจในพื้นที่ใหม่มาตั้งแต่ปี2550 หรือนานกว่า 12ปี

วันนี้ (4 มี.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สื่อมวลชน และคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกิจการผลิตปิโตรเลียมแหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ  โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การต้อนรับและร่วมคณะเดินทาง

- Advertisment -

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณมีความสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งได้สร้างสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างอาชีพให้คนไทย รวมถึงสร้างรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมมายาวนานเกือบ40ปี ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ที่ริเริ่มเรื่องนี้ คือ เรืออากาศโท ศุลี มหาสันทนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นผู้กำกับนโยบายด้านพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล

ทั้งนี้การเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณในครั้งนี้ จึงได้ถือโอกาสที่จะใช้เป็นเวทีในการประกาศนโยบายสำคัญที่จะสานต่อเรื่องการพัฒนาศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย ที่จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ครั้งที่ 23 บริเวณทะเลอ่าวไทย ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศได้มีการพัฒนา               แหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ  และรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง หลังจากที่ไม่ได้มีการเปิดให้มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี2550หรือนานกว่า12ปี

โดยความคืบหน้าในขณะนี้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการออกประกาศกำหนดพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมแล้ว จำนวน 3 แปลงในอ่าวไทย รวมพื้นที่กว่า 34,873 ตารางกิโลเมตร  ที่จะสามารถรู้ผลผู้ชนะการประมูลและมีการลงนามในสัญญาได้ภายในปีนี้ และในปี 2564 จะได้เริ่มต้นการสำรวจซึ่งหวังว่าจะมีข่าวดีในการค้นพบปิโตรเลียมในพื้นที่ที่เปิดให้สำรวจใหม่
โดยประเมินว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท รวมถึงการต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาทหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม และประโยชน์ที่ตามมานั้นไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่หมายถึงความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย ตลอดจนขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ร้านอาหาร โรงแรม และภาคขนส่งอีกด้วย

สนธิรัตน์ รัฐมนตรีพลังงาน เดินทางลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ เป็นครั้งแรก

สำหรับแหล่งก๊าซปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ประกอบด้วย แหล่งเอราวัณ     ปลาทอง สตูล และฟูนาน ดำเนินการโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสท หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 44,519 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบ เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 27,324 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มเอราวัณ (แปลงสำรวจหมายเลข 10 11 12 และ 13) จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 จากนั้นจะบริหารจัดการภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด   ที่ชนะการประมูลเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

แท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ
Advertisment

- Advertisment -.