ปตท. ผนึก องค์การเภสัชฯ และ สวทช. ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา ส่งเสริมสุขภาพคนไทย

- Advertisment-

ปตท. องค์การเภสัชฯ และ สวทช. ผนึกกำลังต่อยอดความสำเร็จการพัฒนาและวิจัยกระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients; API) ศึกษาศักยภาพเชิงพาณิชย์ มุ่งลดพึ่งพาการนำเข้า ส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพให้คนไทย

วันนี้ (1 เมษายน 2564) –  ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.)  และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา “กระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients; API) และ ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ และ/หรือการสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย” ส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน New S-Curve ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ตั้งเป้าระยะแรกเน้นการวิจัยและพัฒนา API สำหรับโรค COVID-19 รวมถึง API ของ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

API เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตยา โดยปัจจุบันประเทศไทยยังต้องมีการนำเข้า API จากต่างประเทศมากกว่า 95% ความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์
ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มั่นคงต่อไป

- Advertisment -

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า สวทช. มีองค์ความรู้ บุคลากร ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีทางด้านเคมีสังเคราะห์ที่จะช่วยหนุนเสริมองค์การเภสัชกรรมในการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม ได้เองภายในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมยาแบบครบวงจร และส่งเสริมงานด้านสาธารณสุขของประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตั้งเป้าสร้างศักยภาพการผลิตยาในประเทศ เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทยในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา นักวิจัย สวทช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับต้านโรค COVID-19 ขึ้นได้เองภายในประเทศ ถือเป็นความสำเร็จที่ตอบโจทย์วงการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์จากต่างประเทศ ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตยาของประเทศ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งเป็นฐานในการสร้างอุตสาหกรรม API ของประเทศ

“ความร่วมมือในครั้งนี้ สวทช. พร้อมที่จะสนับสนุนนักวิจัยที่มีองค์ความรู้ และความสามารถในการวิจัย พัฒนา และปรับปรุงกระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดให้กับองค์การเภสัชกรรมต่อยอดไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลให้แก่ ปตท. เพื่อใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เพื่อผลิตสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (API) ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป” ดร. ณรงค์ กล่าว

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศกว่า 95% และจากการระบาดของโรค COVID-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบยาสำหรับรักษาโรค COVID-19 และวัตถุดิบยาที่จำเป็นอื่นๆ เนื่องจากประเทศหลัก ๆ ที่ผลิตวัตถุดิบยา อย่างเช่น จีน และ อินเดีย ต่างก็มีปัญหาทั้งในเรื่องการขนส่งวัตถุดิบข้ามประเทศและอีกทั้งยังต้องสำรองวัตถุดิบยารักษาโรค COVID-19 และวัตถุดิบยาที่จำเป็นไว้ใช้ในประเทศตัวเอง ซึ่งการที่ประเทศไทยมีการผลิตวัตถุดิบทางยาขึ้นสำหรับใช้เองจะเป็นการสร้างความมั่นคง และการพึ่งพาตนเองด้านยาของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นการสร้าง Ecosystem ในการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นตัวยาใหม่ (NCE, New Chemical Entities) ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่เคยทำได้

ความร่วมมือนี้ องค์การเภสัชกรรมซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านเภสัชกรรมทั้งวัตถุดิบและยาสำเร็จรูป จะทำหน้าที่นำเทคโนโลยีการสังเคราะห์วัตถุดิบที่ทาง สวทช. ได้พัฒนาจนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว มาพัฒนาต่อยอดกระบวนการสังเคราะห์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมเพื่อสร้างต้นแบบกระบวนการสังเคราะห์ที่พร้อมสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ซึ่ง ปตท. สวทช. และ อภ. จะร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ที่มีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในด้านการพัฒนาสุขภาพและการแพทย์ของประเทศ มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ด้วยการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลิต โดยองค์กรหรือบริษัทเอกชนไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย ดังนั้น ความสามารถในการดำเนินการด้านยาแบบครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของประเทศ จะช่วยเสริมความมั่นคงในอุตสาหกรรมยาของประเทศ ตลอดจนลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะยาที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน อาทิ ยาที่ช่วยรักษาโรค COVID-19 ในปัจจุบัน

“ในความร่วมมือนี้ ปตท. จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของ API ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนรูปแบบโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนา API ของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปตท. ตั้งเป้าขับเคลื่อนธุรกิจ Life Science ให้เห็นผลเชิงรูปธรรม จึงได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ขึ้นมา เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวิสัยทัศน์ คือ บริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาค ที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา API จนถึงขั้นผลิตออกสู่ตลาดได้นั้น จำเป็นต้องประกอบด้วย ศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา ความเชี่ยวชาญในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน และความสามารถในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ ซึ่งศักยภาพความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 องค์กร จะช่วยส่งเสริมให้โครงการสามารถสัมฤทธิ์ผลได้ โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา API ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์นี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี

Advertisment

- Advertisment -.