บี.กริม เพาเวอร์ กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 แล้ว! เตรียม COD อ่างทอง 3 อีกโรง ธ.ค. นี้

- Advertisment-

บี.กริม เพาเวอร์ กดปุ่ม COD โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 เมื่อวันที่  1 ต.ค. ที่ผ่านมา พร้อมเตรียมเดินเครื่อง COD โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 3 อีกโรงในเดือน ธ.ค.นี้ รวม 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 280 เมกะวัตต์ เดินหน้าขายไฟฟ้าให้ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม มุ่งยุทธศาสตร์ GreenLeap ย้ำจุดแข็งผู้นำลูกค้าอุตสาหกรรม และพลังงานทดแทน

โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (อ่างทอง) 2 จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 70%) ประกาศเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ โดยเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 3 กำลังการผลิต 140 เมกะวัตต์ ในเดือนธันวาคม 2566 นี้ รวม 2 โครงการมีกำลังผลิตรวม 280 เมกะวัตต์

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM

ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม อ่างทอง 2 และ อ่างทอง 3 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 180 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 25 ปี ในรูปแบบต้นทุนพลังงานส่งผ่าน (pass through) และส่วนที่เหลือเป็นการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำระยะยาวกับลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง ซึ่งจะสร้างกระแสเงินสดอย่างมั่นคงให้กับ บี.กริม เพาเวอร์ อย่างต่อเนื่องไปอีก 25 ปีข้างหน้า 

- Advertisment -

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางของ บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งมั่นในการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งในประเทศและต่างประเทศสู่เป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ “GreenLeap – Global and Green” โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาโครงการในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา อิตาลี กรีซ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 50% ในปี 2573 นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า มุ่งลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าจัดหาพลังงานที่ตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า (Industrial Solutions) ตลอดจนการจัดหาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับอนาคต (Sustainable Fuels) เป็นต้น

สำหรับแนวทางการบริหารต้นทุนจากก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำเข้าก๊าซ LNG ในรูปแบบ Regulated Market หรือภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

ปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 60 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,830  เมกะวัตต์ มุ่งขยายการลงทุนสู่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ารวมกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 พร้อมยกระดับสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก ตั้งเป้าก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)

Advertisment

- Advertisment -.