กองทุนน้ำมันฯ วิกฤติ หนี้พุ่งทะลุแสนล้าน

- Advertisment-

กองทุนน้ำมันฯ วิกฤติ รอลุ้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 18 เม.ย. 2567 ลดภาษีดีเซลเพิ่ม ชี้กรณีไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาทันทีลิตรละ 1 บาท ส่วนกรณีต่ออายุตามเดิมก็ยังส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาดีเซลแบบขั้นบันได เพื่อลดภาระเงินชดเชย 4.77 บาทต่อลิตร หวังกองทุนฯ กลับมามีรายรับต่อวันเป็นบวกโดยเร็วภายใน ต.ค. 2567 สำหรับจ่ายหนี้เงินต้นก้อนแรกเดือน พ.ย. 2567 นี้ ในขณะที่สถานะกองทุนฯ ถังแตกติดลบ 1.03 แสนล้านบาทแล้ว   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ในวันที่ 19 เม.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ จะสิ้นสุดมาตรการ “ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร” ซึ่งกำหนดใช้มาตั้งแต่ 20 ม.ค.-19 เม.ย. 2567 (จากอัตราภาษีดีเซลจริง 5.99 บาทต่อลิตร) ดังนั้นในวันที่ 18 เม.ย. 2567 นี้ คงต้องจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะมีการต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลหรือขยายอัตราการลดภาษีดีเซลเพิ่มได้หรือไม่

โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้นำเงินไปชดเชยราคาดีเซลอยู่ 4.77 บาทต่อลิตร หรือประมาณ 9,800 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่สถานะกองทุนฯ ณ วันที่ 14 เม.ย. 2567 เงินติดลบรวม -103,620 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -56,407 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,213 ล้านบาท   

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้คาดการณ์แนวโน้มอัตราภาษีดีเซล หลังสิ้นสุดมาตรการลดภาษี 1 บาทต่อลิตร ในวันที่ 19 เม.ย. 2567 ไว้ 3 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1. หากกระทรวงการคลังไม่ลดภาษีดีเซลเลย จะส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลปรับขึ้นทันที 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่ 30.44 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตามกองทุนฯ อาจจะใช้วิธีให้ทยอยปรับขึ้นครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตรก็ได้ แต่จำเป็นต้องปรับขึ้นเท่ากับภาษีดีเซลที่หยุดการชดเชยลงไป เนื่องจากกองทุนฯ ยังขาดสภาพคล่อง

- Advertisment -

กรณีที่ 2. กระทรวงการคลังต่ออายุการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร เหมือนเดิม กองทุนฯ ก็ยังจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรอยู่ดี เพื่อลดภาระการชดเชยราคาดีเซล และพยายามให้กองทุนฯ กลับมามีรายรับรายวันเป็นบวกโดยเร็ว

และกรณีที่ 3 กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซลให้มากกว่า 1 บาทต่อลิตร กรณีนี้จะช่วยยืดอายุการปรับขึ้นราคาจำหน่ายดีเซลลงได้บ้าง

โดยเป้าหมายของกองทุนฯ ในปัจจุบันคือ เร่งดำเนินการให้กองทุนฯ มีรายรับรายวันเป็นบวกโดยเร็ว เพื่อเตรียมไว้จ่ายหนี้เงินต้นก้อนแรกที่ยืมมา 3 หมื่นล้านบาทให้สถาบันการเงิน ภายในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ดังนั้นกองทุนฯ จะต้องเริ่มมีเงินรายวันสุทธิเป็นบวกอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตร หรือ 69 ล้านบาทต่อวัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป จึงจะเพียงพอจ่ายเงินต้นได้  

ดังนั้นจึงต้องเลิกเงินชดเชยดีเซล 4.77 บาทต่อลิตร โดยการทยอยปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกดีเซลแบบขั้นบันได ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นไปแล้ว 50 สตางค์ต่อลิตร เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 จากราคา 29.94 บาทต่อลิตร เป็น 30.44 บาทต่อลิตรในปัจจุบัน  หรือหากมีงบกลางจากรัฐบาลมาช่วยก็อาจไม่ต้องปรับขึ้นราคาดีเซล หรือ กรณีกระทรวงการคลังปรับลดภาษีดีเซลให้ 4.77 บาทต่อลิตร ก็จะทำให้ไม่ต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายดีเซลเช่นกัน

สำหรับปัจจุบันกองทุนฯ ยังมีรายรับจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ แต่ก็มีรายจ่ายจากการชดเชยราคาดีเซล 219.38 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG 3.19 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้เงินรายวันสุทธิของกองทุนฯ กลายเป็นเงินไหลออก  223 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อเดือน ฉะนั้นต้องรอความชัดเจนจากการประชุม ครม. ในวันที่ 18 เม.ย. 2567 นี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับภาษีดีเซลที่จะหมดอายุ 19 เม.ย. 2567 นี้ และจะมาช่วยแก้ปัญหากองทุนฯ ได้อย่างไรก่อนที่จะถึงเวลาต้องจ่ายเงินต้นสถาบันการเงินในเดือน พ.ย. 2567 นี้    

Advertisment

- Advertisment -.