จับตาเรื่องสำคัญพลังงานปี2563

- Advertisment-

จับตาเรื่องสำคัญ พลังงาน ปี2563

จากปีกุน 2562 เข้าสู่ปีชวด 2563 กระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ยังขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญที่น่าจับตาและติดตาม  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ทั้งเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าและชุมชน  ต่างแสดงความสนใจ  อยากจะเข้าร่วมลงทุน เพราะเคาะตัวเลขอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจ   เรื่องของการทบทวนแผน5แผนหลัก ด้านพลังงาน  ทั้งแผนPDP  แผนAEDP  แผนอนุรักษ์ แผนน้ำมัน และแผนก๊าซ  ที่จะได้ความชัดเจนในเดือน ก.พ. 2563  เรื่องการเจรจารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมกับบริษัทผู้รับสัมปทาน  ที่ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย  และการเริ่มต้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย –กัมพูชาในระดับรัฐบาล ที่คาดหวังว่าจะพบปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นในอนาคต   ในขณะที่รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลทั้งกฟผ.และ ปตท. ก็มีเรื่องการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวระหว่างกัน  ทิศทางการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ของกฟผ.ที่จะมาเป็นshipper รายใหม่  รวมทั้งเรื่องของการนำ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์  เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย    กองบรรณาธิการศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) ประมวลเรื่องสำคัญในปี2562 และฉายภาพที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 ผ่านตัวละครหลัก ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทรับผิดชอบดังนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  

- Advertisment -

ปี2562  เป็นปีที่กระทรวงพลังงานมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน  จาก ดร.ศิริ  จิระพงษ์พันธ์  ในรัฐบาลคสช. มาเป็น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์   เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  และดูเหมือนว่า สไตล์การทำงานของรัฐมนตรีพลังงาน ทั้งสองคนนี้   แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง   คนหนึ่ง เป็นเทคโนแครต ที่ชอบ สั่งการและเร่งรัด จัดแจงได้เอง  มีคนติดตามไม่กี่คน   แต่อีกคน เป็นนักการเมืองอาชีพ  ฟังเสียงข้าราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม  ก่อนจะกำหนดเป็นนโยบาย  มีคนมาช่วยทำงานเป็นคณะใหญ่ จากหลายขั้ว  โฟกัสนโยบายพลังงานไปที่เป้าหมายเศรษฐกิจฐานราก  พลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy for all

ในแนวคิดการทำงานที่แตกต่าง  ทำให้นโยบายที่วางหมากไว้ในสมัยดร.ศิริ นั้น ถูกรื้อและทบทวนใหม่ในหลายเรื่อง  ทั้งเรื่องของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว  หรือPDP2018 ที่ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. มาตั้งแต่เดือนม.ค.2562  และมีกำหนดจะนำเข้าให้กพช.พิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือน  ก.พ.2563  ทั้งๆที่ ในมติ.กพช.เดิม เขียนระบุเอาไว้ว่าให้มีการทบทวนใหม่ ทุก5ปี   นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการประมูลจัดหาแอลเอ็นจีนำเข้า ของกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลา8 ปีที่ เริ่มต้นสมัย ดร.ศิริ เช่นเดียวกัน ก็มาถูกยกเลิกโดย มติ กพช.วันที่16 ธ.ค. 2562    ยกเว้นเรื่องอนุมัติให้ ราช กรุ๊ป ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์  โดยไม่ต้องประมูลแข่งขัน ที่เร่งลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กันเมื่อเดือน พ.ค.2562  ที่นายสนธิรัตน์ ไม่เข้าไปแตะ

สำหรับปี2563 นายสนธิรัตน์ ประกาศผ่านสื่อมวลชนแล้วว่าทิศทางการดำเนินการจะเน้นใน 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านเศรษฐกิจฐานราก/การช่วยค่าครองชีพประชาชน โดย จะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีเป้าหมาย700 เมกะวัตต์ ให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก  การเร่งอนุมัติงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน  ไปสนับสนุนโครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง  การส่งเสริมสถานีพลังงานชุมชุน  การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ ดีเซลหมุนเร็วB10 ให้กระจายไปทุกปั๊มทั่วประเทศ เพื่อช่วยยกระดับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เกษตรกร  การทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในไตรมาสแรกของปี2563  การเริ่มต้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ในระดับรัฐบาล ของทั้งสองประเทศ  การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ และ การผลักดันการเจรจาข้อพิพาทการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญหนึ่งที่คนในแวดวงพลังงานให้ความสนใจมากคือ ในการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เชื่อว่าจะมีขึ้นในต้นปี2563 นั้น  นายสนธิรัตน์ จะยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือไม่  และถ้ารัฐมนตรีพลังงานไม่ได้ชื่อสนธิรัตน์  นโยบายด้านพลังงานที่ประกาศออกมาข้างต้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน

ข้ามห้วยจากอธิบดีกรมศุลกากร มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่สิงหาคม 2561 ดูเหมือนว่า งานในตำแหน่งปลัดกระทรวงจะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว ด้วยเป็นคนตั้งใจทำงาน ขยันและใฝ่รู้  แต่สำหรับปี2563 มีงานร้อนหลายเรื่องที่ นายกุลิศ นั่งหัวโต๊ะ เป็นประธาน ทั้ง ประธานอนุกรรมการกองทุนอนุรักษ์ ที่ต้องอนุมัติโครงการเป็นวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท  ซึ่งยังมีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปสะสาง แก้ไขปัญหา   ตำแหน่งประธาน คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ต้องวางหลักเกณฑ์ให้เป็นธรรม โปร่งใสในการพิจารณา เพราะเป็นนโยบายที่ถูกจับตามอง ว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มหรือไม่   และที่ร้อนไม่แพ้กัน คือ ประธานบอร์ดกฟผ. ที่จะมีเรื่องของการยกเลิกประมูลแอลเอ็นจี ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี  ของกฟผ. ที่ทางปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย เป็นผู้ชนะ   ว่าจะถูกฟ้องร้องอะไรในภายหลังหรือไม่ รวมทั้งทิศทางการจัดหาแอลเอ็นจี ของกฟผ.ในบทบาทที่เป็นshipper รายใหม่ นอกเหนือจาก ปตท.  กฟผ.จะได้จัดหาแอลเอ็นจีเพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง ในปริมาณเท่าไหร่ และเป็นสัญญาในรูปแบบใด   การจัดทัพพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ที่ต้องเป็นมือไม้สำคัญของกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานลงสู่ภาคปฎิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

 

สราวุธ แก้วตาทิพย์  อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

ถือเป็นอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เป็นคนหนุ่มไฟแรง แต่มีงานร้อนที่สำคัญรออยู่ในปี2563  ทั้งการทบทวน Gas Plan ให้สอดคล้องกับแผนPDP ที่มีการปรับปรุงใหม่  การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ในปี 2563 ในพื้นที่อ่าวไทยเป็นหลัก ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)  หลังจากที่ไม่ได้เปิดสำรวจมานานถึง 12 ปีแล้ว

เรื่องของการเจรจารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม กับกลุ่มเชฟรอน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่บานปลายไปสู่การฟ้องร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และเรื่องการเตรียมข้อมูลเพื่อ เจรจาผลประโยชน์ให้ได้ข้อยุติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ในระดับรัฐบาล หลังจากที่ไม่มีความคืบหน้ามาเกือบ20ปี  โดยพื้นที่ดังกล่าวเชื่อว่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่จำนวนมาก

วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)

เป็นคนหนุ่มไฟแรงอีกคน ที่มีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี และงานสำคัญเร่งด่วนคือการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือPDP2018 ที่คาดว่าจะนำเสนอให้ กพช.พิจารณาในช่วงเดือนก.พ.2563  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ ที่สนพ.รับเป็นเจ้าภาพหลัก โดยจัดวางระบบBig Data เชื่อมโยงฐานข้อมูลจากหน่วยงานด้านพลังงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน  นำมาวิเคราะห์และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการวางแผน  มีความถูกต้อง และน่าเชื่อถือ

ยงยุทธ จันทรโรทัย  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้  ถูกกระแสข่าวลือว่า จะถูกโยกจากตำแหน่งอธิบดี พพ. มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง  แต่ด้วยชื่อชั้นและฝีมือ แถมมีแบคอัพทางการเมืองที่ดี ทำให้ ยังคงรักษาตำแหน่งเดิมอยู่ไปได้จนพ้นปี2562   งานร้อนเร่งด่วนที่จะพิสูจน์ฝีมือ ในปี2563 คือการผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน  และพลังงานชุมชน ที่ทางพพ.เป็นเจ้าภาพหลัก ลงสู่ภาคปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้จริง  รวมทั้งการทบทวนแผนพัฒนาพลังงานทดแทน หรือAEDP ให้สมบูรณ์ เพื่อเข้าพิจารณาใน ที่ประชุม กพช.เดือน ก.พ.2563 นี้

นันธิกา ทังสุพานิช  อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

อธิบดีหญิงหนึ่งเดียวในกระทรวงพลังงาน  ที่งานสำคัญในปี2563 คือ การส่งเสริมให้ยอดการใช้ดีเซลหมุนเร็วB10 เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ B7 จะเป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป ที่ไม่ต้องการใช้ B10 รวมทั้งB20 ที่จะเป็นทางเลือกสำหรับรถบรรทุก นอกจากนี้ยังต้องปรับปรุงแผนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือ Oil Plan  ให้สอดคล้องกับแผนพลังงานหลักอื่นๆ

วีระพล จิรประดิษฐกุล   ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) 

เป็นอีกคนที่คร่ำหวอดในวงการพลังงาน ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทั้ง ผอ.สนพ. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน  แต่น่าเสียดายที่จะนั่งในตำแหน่ง ผอ.สบพน. ได้อีกแค่ปีเดียว เพราะอายุครบ65ปี  งานสำคัญที่ต้องตั้งแท่นเสนอฝ่ายนโยบาย ในปี2563 คือ การ ลดการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ  จากเดิมที่ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุน  ซึ่งในอนาคตอันใกล้ จะเหลือประเภทน้ำมันที่รัฐจะส่งเสริมให้ใช้ และไม่มีการอุดหนุนราคา คือ ดีเซลหมุนเร็วB10 และแก๊สโซฮอล์ E20

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

เพิ่งทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงาน กกพ. แทน นฤภัทร อมรโฆษิต  เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562  โดยงานในตำแหน่งใหม่เสมือนเป็นแม่บ้าน ที่ต้องนำนโยบายของคณะกรรมการกกพ. ไปดำเนินการ ซึ่งที่เร่งด่วนมากๆ คือ การประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน    การประกาศหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์  การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ และผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าแอลเอ็นจี ในภูมิภาคอาเซียน

วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

บทบาทในหน้าที่ที่ผ่านมาเหมือนฉนวนกันไฟ ที่ทั้งต้องทำตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.  โดยงานเร่งด่วนของ กฟผ.ในปี 2563 คือ การนำมติ ครม.ที่ให้ยกเลิกประมูลนำเข้าLNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ไปแจ้ง กับทางปิโตรนาส แอลเอ็นจี  การเร่งรัดลงทุน โมเดลต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งที่แม่แจ่ม และที่ทับสะแก    เพื่อตอบโจทย์ นโยบายสำคัญของรัฐมนตรีพลังงาน  การนำเข้าLNG แบบSpot ให้เป็นไปตามแผน  โดยลำเรือแรก ปริมาณ65,000 ตัน มาถึงวันที่28 ธ.ค. 2562 และลำเรือที่สอง มาถึงเดือนเม.ย.2563  เพื่อปูทาง นำไปสู่การเป็นShipper จัดหาLNG ในระยะยาวให้กับโรงไฟฟ้า ของกฟผ.เอง  โดยความชัดเจนเรื่องนี้ จะต้องรอให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวหรือสัญญา Global DCQ  กับทางปตท.  นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรให้อยู่รอดได้ในยุค Disruptive Technology

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอปตท. และ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ว่าที่ซีอีโอปตท.คนใหม่

งานด่วนของซีอีโอทั้งคนเก่าและคนใหม่ ซึ่งจะรับไม้ต่อกันหลังวันที่12 พ.ค.2563 คือ การตอบโจทย์นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ของรัฐบาล ให้มีผลงานเป็นรูปธรรม ผ่านกลไกพีทีที สเตชั่น   หรือปั๊มปตท.  ภายใต้โครงการไทยเด็ด  การส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วB10 ให้ทั่วทุกปั๊ม ทั่วประเทศ ภายในเดือนมี.ค.2563   การเร่งโครงการปุ๋ยสั่งตัด เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกร   การนำบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์  เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  และการผลักดันให้ปตท.เป็นผู้นำในการค้าLNG ในภูมิภาคอาเซียน

Advertisment

- Advertisment -.