“กุลิศ” เร่งเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ ให้จบก่อนส่งมอบพื้นที่ เม.ย.65

- Advertisment-

ปลัดกระทรวงพลังงาน มอบกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เริ่มกระบวนการเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณกับบริษัท เชฟรอนฯและผู้ถือหุ้นหลัก หลังเชฟรอนฯระงับการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการชั่วคราว ระบุผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นแล้วเมื่อเร็วๆนี้ หวังเร่งให้การเจรจาสำเร็จโดยเร็วก่อนครบกำหนดส่งมอบพื้นที่ เม.ย. 2565

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเริ่มกระบวนการเจรจาค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย กับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และผู้ถือหุ้นหลัก หลังจากก่อนหน้านี้ทาง เชฟรอนฯและผู้ถือหุ้นหลัก ได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการกับกระทรวงพลังงานเอาไว้ก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างเป็นทางการ  โดยเมื่อเร็วๆนี้ ผู้ถือหุ้นหลักในแหล่งเอราวัณ ได้ยื่นข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานต้องการให้การเจรจาค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันระยะเวลาที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ในเดือนเม.ย. 2565 และ 2566  โดยหากผลการเจรจาสามารถตกลงกันได้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะต้องรายงานต่อปลัดกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการจ่ายค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมตามขั้นตอน แต่หากผลการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้  ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการกันต่อไป

- Advertisment -

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯได้ระงับการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพื่อมาเริ่มต้นเจรจาการชำระค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย โดยการเจรจาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบพื้นที่แหล่งเอราวัณให้กับผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมรายใหม่

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่าบริษัทเชฟรอนของสหรัฐฯได้ระงับการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยแล้ว และจะเริ่มต้นเจรจาหาทางออกร่วมกัน ทั้งด้านกฎหมายและแผนดำเนินการรื้อถอนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่เข้าไปดำเนินการต่อโดยจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติหรือความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย

สำหรับกรณีการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ที่เกิดเป็นประเด็นปัญหายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากรัฐ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีการออกกฏกระทรวง ให้บริษัทผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม ทั้งหมด  โดยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของแท่นผลิตหรือสิ่งติดตั้ง ที่รัฐไม่ได้รับโอน และส่วนที่รัฐรับโอนมาใช้ประโยชน์ต่อเนื่อง   ซึ่งเป็นรายละเอียดข้อกำหนดที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง  นอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญาสัมปทาน ที่ทำกันไว้ตั้งแต่ปี2515   แต่ฝั่งเอกชนผู้รับสัมปทาน  มองว่าการออกกฏกระทรวงดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมกับเอกชน  และได้ทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

ทั้งนี้ในมุมของเอกชนผู้รับสัมปทาน   แสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมทั้งหมด เฉพาะในส่วนที่รัฐไม่รับโอนเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ต่อเท่านั้น    แต่หากรัฐเลือกที่จะรับโอนแท่นผลิตปิโตรเลียมใดเอาไว้ใช้ประโยชน์ต่อ  ผู้รับสัมปทานจะไม่รับผิดชอบภาระในการรื้อถอนแท่นผลิตนั้น   ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับสัญญาสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆเช่นทางด่วน  หรือโรงไฟฟ้า  ที่เป็นการโอนขาดไปทั้งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ ให้กับรัฐ

Advertisment

- Advertisment -.