ครม.รัฐบาลเศรษ​ฐา​ บีบลดค่าไฟลงอีกรอบ​เหลือ​ 3.99​ บาทต่อหน่วย

N4032
- Advertisment-

คณะรัฐมนตรีบีบลดค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลงอีกรอบให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดก่อนหน้า ในเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่เคยอยู่ที่เฉลี่ย 4.70 บาทต่อหน่วย ถึง 71 สตางค์ต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า เฟซบุ๊ก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค -Pirapan Salirathavibhaga ได้โพสต์ข้อความลงวันที่ 18 ก.ย.2566 หัวข้อ ทำอยู่ ทำต่อ ค่าไฟ 3.99 โดยมีสาระสำคัญ ถึงการที่ตัวเขาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เสนอเรื่องปรับลดราคาไฟฟ้าเพิ่มเติมต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีมติเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2566 อยู่ในอัตราไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท ซึ่งเป็นผลจากการหารือกับผู้บริหารของ กระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

โดยในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ลงเหลือหน่วยละไม่เกิน 4.10 บาท คราวนี้จึงเป็นการปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาได้ต่ำกว่าเดิม ซึ่งในเฟซบุ๊กของนายพีระพันธ์ ระบุว่า มติ ครม. ที่เห็นชอบ ให้ปรับลดค่าไฟฟ้า ลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติ

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน พฤษภาคม -สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา อยู่ที่อัตรา 4.70 บาทต่อหน่วย ต่อมาที่ประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน -ธันวาคม 2566 ลงเหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการปรับลดลงน้อยกว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงจริง เพื่อกันรายได้จากค่าไฟฟ้าส่วนหนึ่งประมาณ 23,428 ล้านบาท มาทยอยคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนในช่วงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อรัฐบาลเศรษฐา เริ่มต้นทำงานและประชุม ครม.นัดแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้เห็นชอบแนวทาง การปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย และล่าสุดที่ประชุมวันที่ 18 กันยายน 2566 ให้ปรับลดลงอีกเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย เท่ากับว่าค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จะลดลงต่ำกว่างวดเดือนก่อนหน้า ถึง 71 สตางค์ต่อหน่วย โดยที่ยังไม่มีรายละเอียดว่า จะมีการจัดสรรงบจากส่วนใดมาช่วยแบกรับภาระร่วมกับ กฟผ. หรือให้ กฟผ.แบบรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้รับส่วนที่ต้องทยอยคืนเลย

Advertisment

- Advertisment -.