ก.พลังงานจับมือแกท อินเตอร์เนชั่นแนลฯ จัด SETA 2023 ควบ Solar+ Storage Asia 2023 ดึงคนวงการพลังงานร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

- Advertisment-

กระทรวงพลังงานจับมือแกท อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ประกาศความพร้อมจัดงาน SETA 2023 และ Solar+Storage Asia 2023 เปิดเวทีต้อนรับผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมพลังงานและผู้บริหารแถวหน้าวงการเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึก ผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยคาร์บอนอย่างยั่งยืน คาดผู้บริหารระดับซีอีโอในแวดวงพลังงานกว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน เปิดโอกาสในการขยายเครือข่ายธุรกิจและการเจรจาธุรกิจ ตอบรับการเปิดประเทศรองรับการลงทุน หวังสร้างเม็ดเงินจากการลงทุนทั่วโลก โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคมนี้ ณ เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

กระทรวงพลังงาน, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงอุดมศึกษาฯ และ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) ร่วมกับบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะจัดงานฟอรั่มงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชียทางด้านพลังงาน “งานพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย” หรือ Sustainable Energy Technology Asia-SETA 2023 และ “งานเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บประจุของเอเชีย” หรือ Solar + Storage Asia – SSA 2022 ภายใต้แนวคิด “Driving Asia’s Energy Transition Pathways to Carbon Neutrality” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065

- Advertisment -

โดยงานในปีนี้จะปรับรูปแบบมาเป็นการเปิดเวทีการประชุม Executive Asian Energy Leadership Forum ให้กับผู้บริหารระดับซีอีโอของบริษัทผู้ลงทุนด้านพลังงาน รัฐวิสาหกิจด้านกระแสไฟฟ้า บริษัทรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (EPC) กว่า 1,000 คนที่จะมาเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนมุมมองต่ออุตสาหกรรมพลังงาน อีกทั้งเปิดโอกาสให้เกิดการต่อเชื่อมและขยายเครือข่ายธุรกิจและการเจรจาธุรกิจ เพิ่มโอกาสการลงทุนและเพิ่มเม็ดเงินในการลงทุน ตอบรับการเปิดประเทศหลังคลายความกังวลต่อสถานการณ์โควิด19 ลงแล้ว โดยผู้บริหารระดับสูงด้านพลังงานที่คาดว่าจะเข้าร่วมงาน มีอาทิ รัฐมนตรีจากการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น และรัฐมนตรีด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติของชาติอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และสปป.ลาว เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแสดงทัศนะของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติจากภาครัฐและเอกชนในประเด็นต่างๆ เช่น นโยบายการลดคาร์บอน โอกาสและความท้าทายในตลาดการค้าคาร์บอน การสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าคาร์บอนระยะยาว การลดผลกระทบจากสึนามิคาร์บอนในแง่ของกลยุทธ์การดักจับ การใช้และกักเก็บคาร์บอน ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายอาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนและอนาคตที่ยั่งยืน รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน (solar and energy storage) ที่กำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ยังมีการประชุมสัมมนาทางวิชาการอีกหลากหลาย ซึ่งปีนี้ได้เชิญวิทยากรที่เป็นกูรูแถวหน้าของวงการพลังงานทั่วโลกกว่า 100 คน มาโชว์วิสัยทัศน์ พร้อมตีแผ่ข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ร่วมงานเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายด้านความยั่งยืน อาทิการประชุมด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บ (Solar+ Storage Forum) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและผู้นำวงการมาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดด้านพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมชี้เทรนด์ในตลาดไทยและอาเซียน การประชุมผู้นำระดับสูงด้านพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen, Ammonia and downstream options Forum) ที่ร่วมจัดโดยกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย เจาะลึกบทบาทการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนและแอมโมเนียในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน การประชุมด้านยานยนต์ (Mobility Forum) เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ อัปเดตเทรนด์ล่าสุดด้านการพัฒนาและการใช้โซลูชันยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีแบตเตอรี่ สถานีชาร์จไฟฟ้า การเชื่อมโยงยานยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และโซลูชันยานยนต์รูปแบบอื่นๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต การประชุมเทคโนโลยีพลังงานขั้นสูง (Advanced Energy Technology & Digital Power Forum) ร่วมจัดโดยบริษัทเทคโนโลยีและสถาบันพลังงานชั้นนำของโลก เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะการใช้เทคโนโลยีพลังงานขั้นสูงเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Forum) เวทีสำคัญของเอเชีย ที่บรรดาผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกจะร่วมอภิปรายหลักการและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ในงาน SETA 2023 จะมีพิธีมอบรางวัล SETA Energy Award 2023 รางวัลระดับนานาชาติเพื่อยกย่องความสำเร็จของบุคคล, ธุรกิจที่ผลักดันนวัตกรรมภาคพลังงานและไฟฟ้า และเทคโนโลยี โดยแบ่งรางวัลเป็น 10 ประเภท ได้แก่

1. การปฏิวัติพลังงาน (The Energy Revolution)

2. เศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการทรัพยากร (Circular Economy and Resource Management)

3. การลดปริมาณคาร์บอน (Carbon Reduction)

4. โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งปี (The Clean Power Plant of the Year)

5. โครงข่ายสายส่งและกระจายไฟฟ้า (The Transmission & Distribution Networks)

6. สมาร์ทกริด (The Smart Grid)

7. การจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage)

8. สถาปัตยกรรมและการก่อสร้างที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Building and Architecture)

9. ยานยนต์ปลอดมลพิษ (Zero Emission Mobility)

10. ผู้นำด้านพลังงานแห่งปี (Energy Leadership Executive of the Year)

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานจะมีโอกาสร่วมทำกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ภายในงาน เพื่อขยายเครือข่ายทางธุรกิจ พร้อมรับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานกับวิทยากรและผู้ร่วมงานทั้งจากภาครัฐทั่วโลก เช่น ผู้บริหารจากทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) องค์กรพลังงานโลก(World Energy Council) ธนาคารโลก (World Bank) กลุ่ม ปตท. (PTT Group) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) สำนักงานพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติของจีน (ENEAC) การไฟฟ้าอินโดนีเซีย การไฟฟ้าสิงคโปร์  ศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และผู้บริหารบริษัทเอกชนชั้นนำ เช่น BGRIM, JERA, TEPCO, Mitsubishi Power, Saudi Aramco เป็นต้น 

นอกจากนี้ จะมีการจัดงาน Thailand – Korea Energy Week ซึ่งจัดขึ้นคู่ขนานกับ SETA 2023 และ Solar+Storage Asia 2023  เพื่อเปิดโอกาสในการเจรจาและจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการด้านพลังงานจากเกาหลีใต้อีกด้วย

ไม่พลาดโอกาสเชื่อมต่อทางธุรกิจและความร่วมมือกับผู้นำด้านพลังงาน…สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/SETA-2023-SSA-2023 และดูรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.setaasia.com และ www.solarstorageasia.com

Advertisment

- Advertisment -.