ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

- Advertisment-

แม้ว่าช่วง ราคา LNG ขาลง จะส่งผลดีต่อต้นทุนราคาค่าไฟฟ้า แต่ก๊าซธรรมชาติ ยังถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ และหลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่า ต่อให้ราคา LNG ปรับตัวลดลงมาเทียบเท่าหรือถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย แต่ก๊าซในอ่าวไทยก็ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอีกหลากหลายมิติ 

ประเด็นที่มีการพูดกันถึง ราคา LNG ขาลง นั้นเห็นได้จากตัวเลขราคา SPOT LNG ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นำมาใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าในเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10.38 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งลดลงจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 14.32 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และจากที่นักวิเคราะห์บางสำนักคาดการณ์ว่ากำลังการผลิต LNG ที่จะเพิ่มขึ้นมาก จะฉุดให้ราคา LNG ในภูมิภาคเอเชียในอีก 2 ปีข้างหน้า ลดลงต่ำกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ลงมาอยู่ที่ระดับ 6.50 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งใกล้เคียงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากในอ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู 

คำถามก็คือ หากราคา SPOT LNG ลดต่ำลงมามากกว่าราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้น ในด้านนโยบายควรจะเปิดให้มีการนำเข้า LNG ในสัดส่วนที่มากขึ้นและลดการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลงหรือไม่  เรื่องนี้ได้รับคำยืนยันจากผู้รู้ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ที่ผ่านมาช่วงที่สถานการณ์ราคา LNG นำเข้า มีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้น รัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มีการขอความร่วมมือจากผู้ผลิต ให้ผลิตก๊าซธรรมชาติมากเกินกว่าที่สัญญากำหนด เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชน อย่างไรก็ตามในช่วงจังหวะที่ LNG นำเข้ามีราคาที่ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2563 นั้น ทางกระทรวงพลังงานก็มีนโยบายที่ให้ลดระดับการผลิตก๊าซในอ่าวไทยที่เคยเกินกว่าสัญญา ให้ลงมาอยู่ในปริมาณตามโควต้าในสัญญา โดยความต้องการใช้ส่วนที่เหลือนั้นจะถูกเติมด้วย SPOT LNG ราคาถูก ซึ่งตามที่มีบันทึกไว้ถึง SPOT LNG ที่มีราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ ปตท. เคยนำเข้ามาในเดือน ก.ค. 2563 นั้น ราคาเพียง 1.78 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่มีแหล่งพลังงานในประเทศ ทำให้ไทยมีความสามารถที่จะบริหารจัดการด้านซัพพลายและราคาพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หากพึ่งพาแต่การนำเข้าเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ประเทศต้องเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลกได้

- Advertisment -

ด้วยเหตุที่ SPOT LNG เป็นราคาที่สะท้อนถึงดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลก ประเทศไทยจึงไม่สามารถที่จะผูกเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไว้กับการสั่งซื้อ SPOT LNG ราคาถูก เพียงอย่างเดียวเพื่อหวังจะให้ได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกลงได้ เพราะตามข้อเท็จจริงในตลาดการซื้อขาย LNG นั้น ช่วงที่ SPOT LNG มีราคาถูก ก็มักจะมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเสมอ ที่คาดการณ์ว่า SPOT LNG จะราคา 6.50 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู อาจจะมีแต่ราคาที่โชว์ให้เห็น แต่ไม่มี LNG ที่จะส่งมอบให้ จึงต้องมีการสั่งจองล่วงหน้า ซึ่งเมื่อมีการสั่งจองเข้ามามาก ราคา SPOT LNG ในตลาดช่วงนั้น ก็อาจจะขยับราคาพุ่งสูงขึ้น

ข้อเท็จจริงอันสำคัญที่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ก็คือ ไทยเป็นประเทศที่โชคดี จากการพบก๊าซธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเป็นก๊าซชื้น หรือ Wet Gas ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่มีองค์ประกอบหลักทั้ง มีเทน อีเทน โพรเพน   บิวเทน เพนเทน โดยเมื่อผ่านโรงแยกก๊าซแล้ว มีเทน จะถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม อัดแท่นเป็นก๊าซธรรมชาติในยานยนต์หรือ NGV ส่วน บิวเทน โพรเพน ก็เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas; LPG) หรือก๊าซหุงต้ม ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในครัวเรือน ขับเคลื่อนรถยนต์ ส่วนองค์ประกอบที่เหลือก็ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรก๊าซธรรมชาติของประเทศ 

โดยการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในประเทศนั้น ยังสร้างรายได้ให้กับภาครัฐในรูปของค่าภาคหลวง ภาษีปิโตรเลียม ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่นๆ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานทั้งในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ รวมถึงช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบอื่น เช่น ถ่านหิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศได้

ในขณะที่ LNG หรือ Liquefied Natural Gas ที่ไทยนำเข้ามาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านั้น จะเป็น มีเทน   ที่ถูกลดอุณหภูมิลง -160 องศาเซลเซียส เพื่อลดปริมาตรลง 600 เท่า และเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ให้สะดวกต่อการขนส่งในระยะทางไกลๆ การใช้ LNG จึงเหมือนเป็นรายจ่ายของประเทศ มากกว่าที่จะเป็นรายได้เมื่อเทียบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ดังนั้น ถึงแม้ว่าราคา LNG ขาลงจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า มากกว่า LNG ขาขึ้นที่เป็นข่าวร้าย แต่ก็เป็นเพียงตัวเสริมสำหรับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังคงเป็นเครื่องจักรตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และในอนาคตข้างหน้า ที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณสำรองร่อยหรอลง เราก็ยังมีความหวังว่าจะสามารถมีก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือพื้นที่อื่นๆ มาใช้ทดแทน และตอบโจทย์ประเทศด้านเศรษฐกิจได้มากกว่าการพึ่งพิง LNG นำเข้าในสัดส่วนที่สูง

Advertisment

- Advertisment -.