กพช.เห็นชอบPDPฉบับใหม่ สัดส่วนไฟฟ้ากฟผ.ลดเหลือ24%

- Advertisment-

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันนี้  ( 24 มกราคม 2562)  ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) โดยแผนดังกล่าวเน้นให้ภาคเอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ของกฟผ. ลดลงจากประมาณ 35%ในแผนเดิม เหลือ ประมาณ24% ในขณะที่สัดส่วนก๊าซธรรมชาติ เพิ่มปริมาณขึ้นแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจาก รัฐประเมินว่า แนวโน้มราคาLNGนำเข้าจะถูกลงในอนาคต

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานเพิ่มเติมว่า  สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580   (PDP 2018) ตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ ที่ลดลงเหลือประมาณ 24% นั้น ทางฝ่ายบริหารกฟผ.มีความเข้าใจ เพราะมีการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้ามา และในแง่ของจำนวนเมกะวัตต์ไฟฟ้าของกฟผ. ไม่ได้ลดลง  โดย กฟผ  ยังคงเป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงไฟฟ้า และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อีก2,725เมกะวัตต์  แต่ในส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ หรือโรงไฟฟ้าทดแทนโรงเดิม ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดรายละเอียด ว่าส่วนใดจะให้ กฟผ.ลงทุน  หรือ จะเป็นการประมูลแข่งขันของภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP)

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  แผนPDP ฉบับใหม่ ที่เพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ขึ้นมาจากแผนเดิมโดยอยู่ที่สัดส่วนประมาณ53%นั้น เนื่องจาก ทางสำนักงงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ. )ประเมินว่า ในอนาคต ราคาLNG นำเข้าจะมีแนวโน้มลดลง จากซัพพลายที่เพิ่มขึ้น โดยราคาเฉลี่ย LNG นำเข้าที่ใช้เป็นสมมติฐานการคำนวณของทั้งแผน  จะอยู่ที่ประมาณ  244บาทต่อล้านบีทียู  ทำให้ เชื่อว่า ราคาค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าขายปลีกในช่วงปี 2561-2580 จะอยู่ระหว่าง 3.50-3.63บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ยที่ 3.58บาทต่อหน่วยได้

- Advertisment -

กพช.ยังมีมติให้กระทรวงพลังงาน ทบทวนแผนPDP ใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต

นอกจากนี้ยังให้ กบง. พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

มอบ กฟผ. ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization)

รวมทั้งให้ กบง. และ กกพ. พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ100 เมกะวัตต์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

Advertisment

- Advertisment -.