​กกพ.​เสนอให้​ ​ทั้ง กฟผ.และ ปตท.ร่วมรับภาระต้นทุนค่าไฟแทนประชาชนไปก่อน​

- Advertisment-

กกพ.สรุปผล ประชุมร่วม ​ปตท. – กฟผ. วันนี้​ เสนอให้​ทั้งสองหน่วยงานแบกรับภาระแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน​เพื่อให้สามารถปรับลดค่าไฟลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย​ตามมติ ​ครม.เมื่อวันที่​ 18​ ก.ย.2566

โดยตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 เห็นชอบในหลักการมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 จากเดิมหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 3.99 บาท พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน​ นั้น

ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ได้มีการเชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

- Advertisment -

แต่เนื่องจากการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.45 บาท​ ที่เป็นมติ​ กกพ.เมื่อวันที่​ 26​ ก.ค.2566​ นั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ดังนั้น​เมื่อ​รัฐบาลมีนโยบายปรับลดการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเหลือหน่วยละ 3.99 บาทต่อหน่วย เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ จึงจำเป็นต้องให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง แบกรับภาระไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าคงค้างคืนจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง

ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน​จึงให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1.35 แสนล้านบาทและอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ​ 23,428 ล้านบาท​ นั้น เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงต้องยกเว้นการเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวไว้ก่อน

โดยรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจะต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้ามายัง กกพ. เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และสามารถเรียกเก็บค่าไฟฟ้าให้ได้หน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน 2566

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC​ )​ รายงานว่า​ ภาระที่ ปตท.จะต้องช่วยแบกรับค่าก๊าซแทนประชาชนไปก่อน​ จากการลดราคาลงมาให้​ กฟผ.​จาก​เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู คิดเป็นวงเงินประมาณ​เกือบ​ 1​ หมื่นล้านบาท​ ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.2566​ ในขณะที่​ กฟผ.​จะไม่ได้รับคืนเงินคงค้างต้นทุนค่าไฟ​ฟ้า ตามจำนวนที่​ กกพ.เคยมีมติว่าจะจ่ายคืนให้​ 38.31 สตางค์ หรือประมาณ 23,428 ล้านบาท​ ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าไหร่นั้น​ อยู่ที่​ตัวเลขที่จะเสนอกลับมายัง​ กกพ.อีกครั้ง

Advertisment

- Advertisment -.