- Advertisment-

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ล่าสุด ทรงตัวและลดลงกว่า 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยนักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ในจีน และธนาคารกลางหลายแห่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจกดดันเศรษฐกิจและอุปสงค์พลังงาน อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีกำหนดการประชุมในวันที่ 8 ก.ย. 65 โดย Goldman Sachs, Bloomberg และ IHS Markit คาดการณ์ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Main Refinancing Rate) มาอยู่ที่ระดับ0.75% จากปัจจุบันที่ 0.5% และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 20-21 ก.ย. 65 ซึ่ง Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% จากระดับปัจจุบันที่ 2.25-2.5% แม้อัตราว่างงานในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นก็ตาม

ติดตามผลการประชุมของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 5 ก.ย. 65 นี้ ซึ่งก่อนหน้านั้น ซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาลดการผลิตเพื่อกระตุ้นราคา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีท่าทีเห็นด้วย ทั้งนี้การประชุม Joint Technical Committee (JTC) ของกลุ่ม OPEC+ คาดการณ์ตลาดน้ำมันในปี 2565 จะอยู่ในสภาวะที่การผลิตสูงกว่าความต้องการใช้ (Surplus) อยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า 400,000 บาร์เรลต่อวัน หลังที่ประชุมพิจารณารวมตัวเลขการผลิตที่ต่ำกว่าโควตาของประเทศสมาชิกอย่างมีนัยสำคัญเข้าไปด้วย

ทั้งนี้ CNN รายงานว่า OPEC+ ตกลงลดกำลังการผลิตในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อพยายามพยุงราคาน้ำมันที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากคาดการณ์ความต้องการใช้ที่จะลดลงอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ( https://edition.cnn.com/2022/09/05/energy/opec-oil-gas-prices/index.html) – ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center

- Advertisment -

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • เมืองใหญ่ในจีนหลายแห่งประกาศยกระดับมาตรการ Lockdown เพื่อตรวจ COVID-19 และควบคุมการแพร่ระบาด อาทิเมือง Dalian และเมือง Chengdu
  • EIA รายงานว่า สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ เม.ย. 63 ขณะที่ Kpler รายงานว่า สหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 8,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 3.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 62
  • Reuters รายงานแผนการส่งมอบน้ำมันดิบ 5 ชนิดจากแหล่งในทะเลเหนือ (North Sea) ได้แก่ Forties, Brent, Oseberg, Ekofisk, และ Troll ในเดือน ต.ค. 65 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 175,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 755,000 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • 3 ก.ย. 65 Gazprom รัฐวิสาหกิจก๊าซธรรมชาติของรัสเซียประกาศว่าจะยังไม่กลับมาเปิดดำเนินการท่อก๊าซฯ Nord Stream 1 (55,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) จากรัสเซียไปถึงเยอรมนี หลังหยุดซ่อมบำรุงเป็นเวลา 3 วัน (31 ส.ค.- 2 ก.ย. 65) เนื่องจากมีน้ำมันรั่วไหลจากกังหัน (Turbine) ในสถานีเพิ่มแรงดัน แม้ Siemens Energy บริษัทผู้ผลิต Turbine ของเยอรมนีจะแย้งว่าปัญหาดังกล่าวไม่จำเป็นต้องปิดใช้ท่อ
  • สถานการณ์ไม่สงบในอิรัก จากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ หลังผู้นำนิกายชีอะห์ นาย Muqtada al-Sadr ถอนตัวจากการทำงานการเมือง ทำให้ผู้สนับสนุนออกมาประท้วงและปิดล้อมสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงแหล่งผลิตน้ำมัน Majnoon (220,000 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Basrah (210,000 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อ 29 ส.ค. 65 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 ราย และบาดเจ็บกว่า 350 ราย จากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ ทั้งนี้อิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 3.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Advertisment

- Advertisment -.