โรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.เตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ด้วยไฮโดรเจนและชีวมวลอัดแท่ง

2123
- Advertisment-

หลังจากประเทศไทยประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนในเวที COP26 ว่าจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ก็พร้อมตอบโจทย์เรื่องนี้ด้วย โดยคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้ว่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น ซุ่มศึกษาทั้งการนำถ่านหินลิกไนต์ที่คุณภาพต่ำมาผลิตเป็นไฮโดรเจน การนำชีวมวลอัดแท่งหรือ Wood Pellets มาผสมใช้กับถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในโรงไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ

แปรสภาพถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำเป็นก๊าซไฮโดรเจน

นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

เมื่อเร็วๆนี้ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อดูโครงการนำร่องการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินลิกไนต์ ซึ่ง กฟผ.ได้ศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่น่าสนใจคือถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้นั้นเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำที่มีปริมาณแคลเซียมออกไซด์สูงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเพราะจะทำให้อุปกรณ์มีปัญหา

- Advertisment -

เหมืองแม่เมาะนั้นมีถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำปีละ 8 แสนตันและถ่านหินที่มีแคลเซียมออกไซด์สูงอยู่ประมาณ 26 ล้านตัน หากสามารถนำมาผลิตเป็นไฮโดรเจน​ ​เพื่อเป็นเชื้อเพลิง​ผลิตไฟฟ้าได้​ นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงได้แล้ว ยังเป็นการใช้ทรัพยากรถ่านหินของประเทศให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดอีกด้วย

รศ.ดร.ศุภรินทร์ ไชยกลางเมือง หัวหน้าโครงการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินลิกไนต์ที่เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กฟผ. กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มี 3 โครงการ คือ 1. โครงการระบบต้นแบบ Gasification ของถ่านหินสำหรับการผลิตก๊าซสังเคราะห์เพื่อใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ 2. โครงการระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซสังเคราะห์เพื่อรองรับการนำไปใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แข็ง และ 3. โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซสังเคราะห์หรือก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์ของแข็ง

โดยผลการศึกษาของโครงการนำร่อง  สามารถเอาถ่านหิน 1 กิโลกรัม มาสกัดเป็น ไฮโดรเจน และผลิตไฟฟ้าได้ 25 กิโลวัตต์ ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ  โดยนายนิทัศน์ กล่าวว่า จากความสำเร็จของโครงการนำร่อง กฟผ.จึงมีแผนที่จะเพิ่มขนาดกำลังการผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน ให้สูงขึ้นในอนาคต

ผู้บริหาร กฟผ.และ สื่อมวลชนระหว่างการเยี่ยมชมโครงการนำร่อง

การใช้ชีวมวลอัดแท่งผสมถ่านหินผลิตไฟฟ้า

อีกโครงการที่น่าสนใจเพราะจะเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้โตเร็ว คือ การทดลองนำชีวมวลอัดแท่ง หรือ wood pallets มาผสมกับถ่านหินเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่เป็น Coal Firing ขนาดกำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องมีการปรับปรุงอุปกรณ์  ซึ่งมีการทดลองเดินเครื่องในปีที่ผ่านมา ในสัดส่วนของชีวมวลอัดแท่งเริ่มต้นที่ 2% และเพิ่มเป็น 5% หรือใช้ไปประมาณ 3,000 ตัน

ถ่านหินลิกไนต์ที่นำมาบดละเอียดผสมกับชีวมวลอัดแท่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า Coal Firing

โดยทางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีแผนให้ในปี 2569 จะมีการเพิ่มสัดส่วนของ wood pallets เพิ่มขึ้นที่ 15% ที่อาจจะต้องมีการปรับปรุงอุปกรณ์บางอย่าง และจะต้องใช้ wood pallets ประมาณ 200,000 ตันต่อปี ซึ่งจะต้องมี wood pallets มาส่งป้อนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆและบริษัทลูก ในการหาพื้นที่ปลูกไม้โตเร็ว และให้มีต้นทุนที่เหมาะสม โดยไม้โตเร็วที่ปลูก จะต้องเหมาะกับพื้นที่ มีระยะทางขนส่งที่ไม่ไกลมากจากโรงไฟฟ้า ไม่แย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหารและเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่เป็นการไปตัดไม้ทำลายป่า ที่สำคัญคือสร้างรายได้และประโยชน์ด้านอื่นๆให้กับชุมชน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน  ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าเชื้อเพลิง และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้ภาคเหนือ

ความสำคัญของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ. ที่ปัจจุบันเดินเครื่องอยู่ในหน่วยที่ 8-13 กำลังการผลิตหน่วยละ 300 เมกะวัตต์ รวม1800 เมกะวัตต์ นั้น ส่งไฟฟ้าเลี้ยงพื้นที่ จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน  รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำไม่ถึง 2 บาทต่อหน่วย จึงมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าเฉลี่ยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา

เตรียมความพร้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายนิทัศน์ พูดถึงการเตรียมความพร้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ว่า ในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อาจจะถูกสั่งให้ลดกำลังการผลิตเพื่อลดการใช้ถ่านหินลง เนื่องจากประเด็น Carbon Neutrality  ดังนั้นทั้งการศึกษาเรื่องไฮโดรเจน และ ชีวมวลอัดแท่ง จึงเป็นทางเลือกให้รัฐบาลตัดสินใจว่า ถ้าเราผลิตถ่านหินแต่กักเก็บคาร์บอนไว้ได้หมด แล้วเปลี่ยนมาเป็นไฮโดรเจน หรือมีเทน และสามารถนำไฮโดรเจนไปผสมกับการผลิตไฟฟ้าได้ ไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เลย ก็จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐ    ประเด็นสำคัญ คือทำอย่างไรจึงจะมีต้นทุนที่ต่ำ และเป็นโรงไฟฟ้าที่สามารถจะรักษาความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ 

ส่องแผนพัฒนาไฮโดรเจนในภาพรวมของ กฟผ. สู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

พลังงานไฮโดรเจน ถือเป็นพลังงานสะอาดแห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแผนเพิ่มกำลังการผลิต Green  Hydrogen จากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง ระยะที่ 2 ให้เต็มศักยภาพ เพื่อพัฒนาต่อยอดไปยังพื้นที่โครงการพลังงานทดแทนจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์แห่งอื่นๆ ของ กฟผ. ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ส่วน Blue Hydrogen กฟผ. มีแผนศึกษาความเหมาะสมโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนซึ่งผลิตจากถ่านหินแม่เมาะคุณภาพต่ำที่มีปริมาณแคลเซียมออกไซด์สูงร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าระบบผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ใช้ในปัจจุบันกว่าเท่าตัว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี CCUS ณ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมถึงการศึกษาความเหมาะสมโครงการศึกษารูปแบบการผสมและการใช้งานไฮโดรเจนร่วมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อาทิ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยให้พร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดในอนาคต สอดคล้องกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ปี 2023-2037 ที่มีแผนให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งในเบื้องต้นอาจมีการกำหนดสัดส่วนการใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่ประมาณ 5% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมดในปี 2031

นอกจากนี้ กฟผ. ยังแสวงหาความร่วมมือในการศึกษาและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจน รวมถึงบริหารจัดการทั้ง Value Chain ร่วมกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างยั่งยืน

Advertisment