เชฟรอน -ปตท.สผ.ประสานเสียงร่วมมือกรมเชื้อเพลิงฯ ส่งไม้ต่อผลิตก๊าซเอราวัณต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 65

2533
- Advertisment-

ผู้บริหารของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ และ ปตท.สผ. ที่จะเข้ามารับช่วงต่อการผลิตในฐานะโอเปอเรเตอร์รายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ยืนยันความร่วมมือกันกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปอย่างต่อเนื่อง หลังวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 23 เม.ย. 2565

โดยหลังจากที่อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความมั่นใจว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะทำหน้าที่ประสานกับเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย. 2565 กับ ปตท.สผ. ที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์มารับช่วงการผลิตต่อภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี เพื่อให้การผลิตก๊าซช่วงรอยต่อเกิดความต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพระดับโลกในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของเชฟรอน ที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านการผลิตครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งเอราวัณ ว่า การเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งปิโตรเลียม เป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดซับซ้อน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการนี้ให้สำเร็จลุล่วงด้วยความปลอดภัย เพื่อให้การผลิตพลังงานมีความต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนประเทศไทยได้ทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินงานรายใหม่ เพื่อเตรียมการส่งมอบแหล่งเอราวัณ โดยมีความคืบหน้าที่สำคัญหลายประการ อาทิ การลงนามข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ฉบับที่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2562 ซึ่งเปิดให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่ของแหล่งเอราวัณ เพื่อดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการ ซึ่งจนถึงปัจจุบันกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความปลอดภัยและราบรื่น และในเร็วๆ นี้ คาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลงการเข้าพื้นที่ฉบับที่ 2 ซึ่งจะสนับสนุนให้ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมที่มีความซับซ้อน เช่น การติดตั้งแท่นหลุมผลิต การขุดเจาะหลุม และการติดตั้งเรือกักเก็บปิโตรเลียมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตเมื่อเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในปี 2565

- Advertisment -
แท่นผลิตในแหล่งเอราวัณ ที่จะส่งมอบให้รัฐดำเนินการต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 23 เม.ย.2565

นอกจากนี้เชฟรอนยังอยู่ในระหว่างหารือร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. สผ. เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการส่งมอบแหล่งเอราวัณอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งมอบแท่นและสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐ รวมถึงกระบวนการรับสมัครและคัดเลือกพนักงานซึ่งมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าในเรื่องของการรื้อถอน และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นนั้น เชฟรอนมีความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมการรื้อถอน โดยที่ผ่านมาเราได้วางแผนงานและดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น โครงการนำร่องการนำส่วนบนของขาแท่นผลิตปิโตรเลียม จำนวน 4 แท่นไปจัดการบนฝั่ง และที่จะดำเนินการในเร็วๆ นี้ ก็คือการร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาการนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมไปจัดวางเป็นปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทย โดยจะนำขาแท่นผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่น ไปจัดวางที่บริเวณเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนนี้ ซึ่งการนำขาแท่นไปทำเป็นปะการังเทียมเป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่มีการดำเนินงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ทั้งนี้กิจกรรมการรื้อถอนจะช่วยให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานโดยตรงและในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อการส่งมอบแหล่งเอราวัณให้ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยเชฟรอนมีแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีส่วนร่วมในกิจกรรมการรื้อถอนตามมาตรฐานความปลอดภัยและแนวทางปฏิบัติที่ดีของอุตสาหกรรม เช่น การนำส่วนบนของขาแท่นผลิตปิโตรเลียม 4 แท่นมาจัดการบนฝั่ง ที่ผ่านมานั้น ส่วนบนของขาแท่นที่นำขึ้นฝั่งได้ถูกนำไปจัดการที่สถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน (Dismantling Yard) ของผู้ประกอบการไทยในจังหวัดชลบุรี ซึ่งยังมีโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก เฉพาะในประเทศไทยเอง มีแท่นผลิตอยู่เกือบ 400 แท่น ซึ่งอาจต้องทยอยรื้อถอนต่อไป โดยเชฟรอนมีเป้าหมายในการรื้อถอนแท่นผลิตและสิ่งติดตั้งที่รัฐมิได้เลือกที่จะนำไปใช้ประโยชน์ให้แล้วเสร็จอย่างปลอดภัยก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่เป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน

ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด

“ความมุ่งมั่นต่อพันธกิจจัดหาพลังงานของเชฟรอนไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากแหล่งเอราวัณ เรายังเป็นผู้ดำเนินการของแปลงสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทย ซึ่งยังไม่ได้หมดอายุในปี 2565 เช่น แหล่งไพลิน นอกจากนี้ เรายังมองหาโอกาสการลงทุนและความเป็นไปได้ในการสนับสนุนแนวนโยบายด้านพลังงานอื่นๆของรัฐ เช่น การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา การจัดหาและจำหน่าย LNG รวมทั้งการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ LNG เป็นต้น” นายไพโรจน์ กล่าว

พงศธร ทวีสิน ซีอีโอ ปตท.สผ.

ในขณะที่ นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การดำเนินงานช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณ ก่อนที่ ปตท.สผ. จะเข้าไปดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น ได้มีการประสานงานกับผู้รับสัมปทานในปัจจุบัน และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความร่วมมือของทุกฝ่ายมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการผลิตก๊าซให้ต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต

โดยขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงการเข้าพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าไปติดตั้งแท่นและเจาะหลุมผลิตได้ตามแผนการลงทุนที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้อนุมัติ และ ปตท.สผ. ได้เริ่มลงทุนไปแล้ว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ดำเนินการในปัจจุบันภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  ขณะที่การจ้างพนักงานเดิมต่อจากผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในปัจจุบันนั้น ได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายโอนพนักงานในอนาคต

ก็เป็นที่มั่นใจได้ว่าผลจากความร่วมมือของ เชฟรอนฯ และ ปตท.สผ. ภายใต้การกำกับดูแลและประสานงานอย่างใกล้ชิดของ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานจากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยไปอย่างน้อยอีก 10 ปีข้างหน้าหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอย่างแน่นอน

Advertisment