เปิดนโยบายเร่งด่วนด้านพลังงานรัฐบาลเศรษฐา​ ลดราคาดีเซล​ ค่าไฟ​ เร่งเจรจาพื้นที่​ OCA​ ไทย-กัมพูชา​

1067
- Advertisment-

เปิดนโยบายเร่งด่วนด้านพลังงานรัฐบาลเศรษฐา เร่งลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ให้อยู่ในระดับเหมาะสม และเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา รวมทั้งจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนนโยบายด้านพลังงาน ถูกจัดวางไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการ ราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เรื่องสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว และจะช่วยให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ การเร่งเจรจาเพื่อหาทางพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้าน และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด

ทั้งนี้ในการเจรจาเรื่องพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่กินพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีการประเมินว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะสำรวจพบปิโตรเลียมนั้น รัฐบาลไทย ในช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการลงนามเอ็มโอยูกับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อปี 2544 ที่ให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เป็นกลไกในการเจรจาแบ่งเขตพื้นที่ส่วนบนของพื้นที่ที่ทับซ้อนกัน ควบคู่ไปกับพื้นที่ที่จะให้มีการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน แต่ที่ผ่านมากว่า 22 ปียังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบในการเป็นผู้นำในการเจรจาเรื่องดังกล่าว คือกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในรัฐบาลเศรษฐาก็ได้มีการวางตัว ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว

ในส่วนของวาระเร่งด่วนในการลดราคาพลังงานนั้น ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของน้ำมันดีเซล จะมีแนวทางที่จะลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ราคาดีเซลปรับลดลงมา จาก 31.94 บาทต่อลิตร เป็นระดับ 30 บาทต่อลิตร และกลุ่มเบนเซินและแก๊สโซฮอล์ จะพิจารณาช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง ส่วนค่าไฟฟ้า เอฟที เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พิจารณาปรับลดลงมาแล้ว 25 สตางค์ต่อหน่วย ก็จะมีการพิจารณาให้ปรับลดลงมาอีกในระดับ 20-25​ สตางค์ต่อหน่วย โดยมีแนวทางให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ชะลอการได้รับคืนหนี้ ที่เกิดจากต้องรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนในช่วงก่อนหน้านี้​ ซึ่งทั้งเรื่องลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า​ จะนำเข้าหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี​นัดแรก​วันที่​ ​12​ ก.ย.นี้

ขอบคุณ​ภาพประกอบ​ข่าว​จาก​FB​เศรษฐา​ ทวี​สิน​

Advertisment