ราช กรุ๊ป เผยโรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์ ผ่าน EIA แล้ว คาดเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส2 ปี 64

1211
- Advertisment-

ราช กรุ๊ป เผยโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว คาดก่อสร้างได้ช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ส่วนการจัดหาก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้า ขณะนี้ยังเจรจากับผู้จัดหาก๊าซฯหลายราย และยังไม่ตัดทางเลือกซื้อก๊าซฯจาก ปตท. เพื่อเปรียบเทียบหาราคาที่ดีที่สุด โดยต้องทำสัญญาให้เสร็จก่อนโรงไฟฟ้าหินกองชุดแรกจะเข้าระบบในปี 2567

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ว่า โครงการดังกล่าว ได้ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมลงนามกับผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะจบได้ภายในปี 2563 และลงนามเงินกู้ได้ในปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส 2 ปี 2564  ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพื่อให้เสร็จตามกำหนดการเดินเครื่องหน่วยผลิตไฟฟ้าแรก 700 เมกะวัตต์ เดือน มี.ค. 2567 และหน่วยที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ในวันที่ 1 ม.ค. 2568

ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าหินกองนั้น ขณะนี้ได้เจรจากับผู้จัดหาก๊าซฯหลายราย หลังจากบริษัทฯได้รับอนุมัติเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563  เพื่อเลือกเงื่อนไขที่ดีที่สุด

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯยังไม่ได้ตัดทางเลือกการเจรจาซื้อก๊าซฯจากบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด ซึ่งจะต้องนำข้อมูลทั้งด้านราคาและรายละเอียดเงื่อนไขการรับก๊าซฯ จากผู้จัดหาก๊าซฯรายอื่นๆ มาเปรียบเทียบกับ ปตท.เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด

  ทั้งนี้แม้บริษัทจะได้รับอนุมัติเป็น Shipper ก๊าซฯแล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถนำเข้าก๊าซฯได้จริง เพราะต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่อนุมัติให้นำเข้าก๊าซฯก่อน รวมทั้งต้องให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เห็นชอบก่อนด้วย จึงจะเริ่มนำเข้าได้  โดยจะต้องทำสัญญาซื้อขาย ก๊าซฯให้เสร็จก่อนโรงไฟฟ้าหินกองจะเริ่มเข้าระบบในปี 2567

นายกิจจา กล่าวว่า รูปแบบสัญญาก๊าซฯ เบื้องต้นจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 10 ปี และการพิจารณานำเข้าก๊าซฯ จะต้องดูเงื่อนไขราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจร (Spot) ซึ่งแม้จะมีราคาถูกในปัจจุบัน แต่ในระยะยาวต้องพิจารณาว่าจะมีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงต้องมองโอกาสจากนโยบายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub)การซื้อขายก๊าซในภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งหากนำเข้าLNGมาอาจจะส่งออกไปขายต่างประเทศได้ในอนาคต เป็นต้น

ส่วนขั้นตอนการนำเข้าก๊าซฯ จะต้องเช่าคลังเก็บ LNG ก่อน ซึ่งอาจเป็นของ ปตท. หรือคลังของ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจีเทอร์มินอล จำกัด นอกจากนี้ต้องเจรจาการเช่าท่อก๊าซฯ เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างราคาท่อก๊าซฯได้บวกรวมต้นทุนท่อก๊าซฯทั้งบนบกและในทะเล แต่บริษัทฯจะใช้เฉพาะท่อบนบก ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมหากจะรวมต้นทุนท่อก๊าซฯในทะเลมาด้วย

Advertisment