“พลังงาน” บริหารวิกฤต LNG ราคาแพงอย่างไร

682
- Advertisment-

ตั้งแต่เกิดวิกฤตราคาพลังงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LIQUEFIED NATURAL GAS) หรือ LNG นำเข้ามีราคาสูงและค่อนข้างผันผวน และส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันติดตามและบริหารสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินทุกมาตรการที่สามารถทำได้ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยใช้กลไกของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ กรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมหารือและวางมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น

หากคลี่มาตรการของกระทรวงพลังงานดูแนวทางการบริหารจัดการรับมือปัญหาด้านเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ประสบภาวะวิกฤตในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมาของประเทศต้องถือว่าสอบผ่าน เพราะวิกฤตการณ์พลังงานที่เกิดขึ้นนี้หลายๆ ประเทศต่างเผชิญผลกระทบเดียวกันอย่างถ้วนหน้า รัฐบาลแต่ละประเทศต่างก็ต้องงัดมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยกันเต็มที่

- Advertisment -

มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในภาวะวิฤตในปี 2565 ดังกล่าว แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่

กลุ่มที่ 1 ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง

  • จัดหาเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำโดยใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ราคาแพง ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ก๊าซ LNG ในแต่ละเดือนได้ราว 100 – 200 ล้านลิตรต่อเดือน และในช่วงที่ราคา LNG แพงมากก็ใช้ทดแทนได้ถึง 300 ล้านลิตรต่อเดือน
  • เพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่น เช่น ใช้ถ่านหินจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่กำลังจะปลดออกจากระบบให้ใช้ต่อ การซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาวเพิ่มขึ้น การรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น

กลุ่มที่ 2 การบริหารและจัดหาก๊าซในประเทศให้ได้มากที่สุด

  • โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เร่งรัดการจัดหาก๊าซให้เป็นไปตามแผนทั้งจากอ่าวไทยซึ่งมีต้นทุนต่ำ และการจัดหาจากเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ มาเลเซีย
  • การขอความร่วมมือ ปตท. ลดการใช้ก๊าซในภาคปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรม โดยนำไปผลิตในภาคไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ปี 2565 สามารถทดแทนก๊าซ LNG ได้ประมาณ 100,000 ตัน

กลุ่มที่ 3 การลดความต้องการใช้

  • กระตุ้นให้มีการลดความต้องการใช้ เพื่อนำก๊าซไปใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น
  • เจรจาเพื่อลดการรับซื้อไฟฟ้าภาคสมัครใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ประเภท Co-Generation​ ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ
  • มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตอีกด้วย อาทิ การให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ช่วยรับภาระด้านต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นการชั่วคราว การออกมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่า Ft หรือต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในปี 2566 นี้ แนวโน้มราคา LNG จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยล่าสุด นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานยังคงติดตามและทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับลดลงและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ โดยกระทรวงพลังงานคาดการณ์สถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงในรอบถัดไป (กันยายน – ธันวาคม 2566) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากราคา LNG นำเข้าจากตลาดจรได้อ่อนตัวลง ประกอบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานยังได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานถึงแนวทางที่อาจพิจารณาในการคำนวณค่า Ft ได้ อาทิ ผลประหยัดที่ได้จากส่วนต่างการประเมินราคาเชื้อเพลิงกับราคาที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในรอบการคำนวณ Ft ในปัจจุบัน และรอบแรกของปี 2566 รวมถึงการบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คงค้างอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสถานการณ์จนถึงสิ้นปี 2566 จะผ่อนคลายลง และราคา LNG ทยอยกลับมาสู่สมดุลมากขึ้นแต่แนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะหลงลืมไม่ได้คือ การประหยัดไฟฟ้า ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Advertisment