ปตท.เดินหน้าเป็น LNG Regional ​Hub ตั้งเป้านำเข้า 9 ล้านตันต่อปีในปี 2573

1909
- Advertisment-

ปตท. เดินหน้าเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้าหมายใหม่เพิ่มการนำเข้า LNG เป็น 9 ล้านตันภายในปี 2573 พร้อมยืนยันโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) (แห่งที่ 2 ) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง คืบหน้าแล้ว 80% เสร็จตามกำหนดกลางปี 2565

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายใหม่ เพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็น 9 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573 เพื่อรองรับการเป็น ศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub)

ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความพร้อมเป็นศูนย์กลางซื้อขายก๊าซฯในอาเซียนนั้น ทาง ปตท.ได้ดำเนินการแล้วหลายโครงการ เช่น LNG Reloading Cargo ครั้งแรกไปยังประเทศญี่ปุ่น, การส่งออก LNG ทางรถยนต์ไปประเทศกัมพูชาสำเร็จเป็นครั้งแรก, การส่งออก LNG ทางเรือไปยังประเทศจีนในรูปแบบ ISO Tank Container และการจับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) (แห่งที่2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี (MTPA)

- Advertisment -

โดยโครงการ LNG Receiving Terminal) (แห่งที่2)จะเสร็จตามกำหนดในปี 2565 แน่นอน ซึ่งขณะนี้ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ กฟผ. ไปแล้ว ซึ่งโครงการนี้มีข้อดีคือ กฟผ. ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนในการก่อสร้างเทอร์มินอลในพื้นที่ภาคกลาง และในอนาคตอาจมีความร่วมมือกันในการก่อสร้างเทอร์มินอลในพื้นที่ภาคใต้ ต่อไป นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังถือเป็นหนึ่งในแผนการเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ปตท. และเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน ( ASEAN Regional LNG Hub)

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ในพื้นที่ภาคใต้ ที่สามารถรองรับปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ขนาด 3 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพุนพิน หรือ เดิมชื่อโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีนั้น ปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการร่วมกันเสร็จแล้ว ส่วนโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ยังต้องขออนุมัติจากภาครัฐต่อไป ซึ่ง ปตท.และ กฟผ.จะประสานงานร่วมกันเพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของภาครัฐต่อไป

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ปัจจุบัน การก่อสร้างโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Receiving Terminal) (แห่งที่2) ตำบลหนองแฟบ มีความคืบหน้าแล้ว 79-80% ซึ่งจะแล้วเสร็จกลางปี 2565 ก็เป็นโอกาสดีที่ กฟผ.จะเข้ามาร่วมลงทุนและใช้ประสิทธิภาพที่ยังเหลืออยู่ ขณะที่ ปตท.เองก็สามารถใช้ทรัพย์สินที่ลงทุนไปได้เต็มประสิทธิภาพ
“ข้อดีร่วมกันคือ 1.กฟผ. ไม่ต้องไปลงทุนใหม่ 2. ไม่ต้องไปรอ เพราะกว่าโครงการใหม่จะสร้างเสร็จต้องใช้เวลา 4-5 ปี ซึ่งก็สามารถใช้งานได้เลยและรองรับการเปิดเสรีของภาครัฐ

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 (Rev.1) ระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal โดยให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (FSRU )ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) เป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ตำบลหนองแฟบ จังหวัดระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี

โดยโครงการ LNG Receiving Terminal หนองแฟบ เป็นคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซ LNG แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นต่อจากLNG Receiving Terminal มาบตาพุด จ.ระยอง ของ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTTLNG) โดยมีมูลค่าการลงทุน 38,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2562 และมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อรองรับการนำเข้า LNG 7.5 ล้านตันต่อปี โดย กฟผ. จะเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 50 : 50 และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนร่วมกัน ทำให้ขยายขีดความสามารถในการนำเข้าLNG ของประเทศไทยจากเดิม 11.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 19 ล้านตันต่อปี ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

Advertisment