บริษัทลูกGPSC ลงนาม ม.สุรนารี วิจัยพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 6 MW มูลค่า 150 ล้าน

1967
- Advertisment-

บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP)ซึ่งเป็นบริษัทที่โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)หรือ GPSC ถือหุ้น 100% ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) โครงการวิจัยและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์  มูลค่า 150 ล้านบาท คาดผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565 หวังช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับมหาวิทยาลัยได้กว่า 510 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี

นายชวลิต  ทิพพาวนิช   ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่   บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ GPSC ถือหุ้น 100% ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) โครงการวิจัยและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวันนี้ (28 ก.ย.2563 )  เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์  มูลค่า 150 ล้านบาท โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private PPA) คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565

- Advertisment -

สำหรับโครงการดังกล่าว จะแบ่งการติดตั้งเป็น 3 ส่วนได้แก่ (1)การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)  ของอาคารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 8 อาคาร ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า รวมประมาณ 1.68 เมกะวัตต์ โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Mono PERC Half-Cell Module (2) การติดตั้ง Solar Rooftop บริเวณหลังคาทางเดิน อาคารบริหาร ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 60 กิโลวัตต์ ด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบชนิด Bifacial cells  แทนการใช้หลังคาทั่วไป  และ (3) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ชนิดลอยน้ำ (Solar Floating) ในอ่างเก็บน้ำสุระ 1  ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง รวมประมาณ 4.312 เมกะวัตต์

ซึ่งจุดเด่นของระบบนี้อยู่ที่ทุ่นลอยน้ำซึ่งเป็นเทคโนโลยีของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  หรือ GC  บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ใช้วัตถุดิบ (Raw Material) เป็นเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษที่ผสมสารกันแสง UV  ที่มีคุณสมบัติคงทนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้หลังจากสิ้นสุดอายุการใช้งาน

พร้อมกันนี้ ยังมีการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง (Battery Energy Storage System: BESS) ชนิด  Lithium ion Battery  ขนาด 100-200 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ให้กับอาคารหอพักสุรนิเวศ

พร้อมด้วยการวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยี่ Block Chain ในการบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสามารถควบคุมและติดตามผลการทำงานแบบ Real Time และยังสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจ อาทิ ข้อมูลสภาพอากาศและความเข้มของแสงอาทิตย์มาวิเคราะห์ปริมาณความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ล่วงหน้า เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปบริหารจัดการในการเพิ่มความแม่นยำของประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า

ด้าน รศ.ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันที่มีค่าไฟฟ้ากว่า 100 ล้านบาทต่อปี ด้วยวิธีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ 4.3 เมกะวัตต์  บนอ่างเก็บน้ำสุระ และแผงโซลาร์เซลล์ 1.7 เมกะวัตต์ บนหลังคา ทำให้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบพลังงานทดแทนได้กว่า 8.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 510 ล้านบาท ตลอดอายุโครงการ 25 ปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 115,000 ตัน นอกจากนี้ ในส่วนของ Solar Floating จะช่วยลดการระเหยน้ำในสระน้ำมากกว่า 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ในอนาคตโครงการฯ ยังมีแผนจัดตั้งให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานด้านการศึกษาและชุมชนต่างๆ เพื่อเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระบบไมโครกริด และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตใช้ได้เอง และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Advertisment