ซีอีโอปตท.ชูวิสัยทัศน์ “PTT by PTT” ดึงพันธมิตรสร้างความแข็งแกร่ง รับมือวิกฤต Covid-19

1398
- Advertisment-

ซีอีโอปตท.ชูวิสัยทัศน์ “PTT by PTT” เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตร การผสมผสานเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล ตอบโจทย์การตลาด และการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส โดยการเป็นองค์กรที่นำส่งรายได้ให้กับรัฐกว่า 9.6 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2544-2562และมีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ 2.1ล้านล้านบาท มีขนาดรายได้คิดเป็น 13% ของGDP ทำให้มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

วันนี้ (12 มิถุนายน 2563) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นซีอีโอปตท.คนที่ 10 เปิดเผยในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ได้ 1 เดือน ว่า ในปี 2563 ที่ทั่วโลกและประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  สถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม ธุรกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภค สู่บริบทใหม่หรือ new normal ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทย รวมถึง กลุ่ม ปตท.

โดย นายอรรถพล มองว่า new normal ในมุมของเขาคือ การค้นพบวัคซีนในการรักษา Covid-19 ไม่เช่นนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทย ก็จะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการระบาดรอบใหม่  ดังนั้น ภารกิจ ปตท. ยังคงต้องรักษาความเข้มแข็งของธุรกิจหลักและสร้างธุรกิจใหม่แทนที่การเติบโตในรูปแบบเดิม โดยความที่ปตท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่ นำส่งรายได้ให้กับรัฐกว่า 9.6 แสนล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2544-2562และมีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ 2.1ล้านล้านบาท มีขนาดรายได้คิดเป็น 13% ของ GDP  การดำเนินธุรกิจของปตท.จึงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

- Advertisment -

“ผมมุ่งหวังที่จะให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศ และเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามแนวคิดที่เรียกว่า PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้กลยุทธ์ที่จะทำให้บรรลุแนวคิดดังกล่าว จะต่อยอดการดำเนินงานจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายในผสานด้วยการเปิดกว้างทางความคิด รับบริบทจากภายนอก (inside-out & outside-in) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยวางพื้นฐานหลักในการทำงานด้วยกลยุทธ์ PTT ร่วมกับแนวคิด PTT เช่นเดียวกันหรือที่เรียกว่า “PTT by PTT” ประกอบด้วย

– Partnership and Platform เน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลทฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตสินค้าและจำหน่าย โดย ปตท. จะดึงดูดพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ จากต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน ผู้ประกอบการไทย และ SMEs ในการ ขับเคลื่อนคุณค่าจากมือพันธมิตรสู่มือผู้บริโภค เป็นการร่วมกันสร้าง New business model และ New ecosystem

 – Technology for All เทคโนโลยีที่เกิดจากการผสมผสานด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และดิจิทัล โดยจะใช้ในทุกมิติของกระบวนการดำเนินงาน ทั้งการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และใช้บริหารจัดการองค์กร รวมทั้งการขับเคลื่อนสู่ภายนอก เป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

– Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เน้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจเรื่องการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การประเมินความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Governance, Risk และ Compliance หรือ GRC) พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นอกจากแนวคิดสู่กลยุทธ์ PTT by PTT แล้ว เพื่อเป็นการรองรับวิกฤตและลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเวลานี้ กลุ่ม ปตท. จึงนำแนวคิด 4R’s มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่ Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สร้างความปลอดภัยให้พนักงาน ประเมินสุขภาพองค์กร ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จัดความสำคัญของโครงการลงทุน ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ และรักษาสภาพคล่อง Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาความสามารถทางการแข่งขัน Re-imagination ในขณะเดียวกันต้องเตรียมออกแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจเดิมและ New S-Curve และ Reform พร้อมปฏิรูป จัดโครงสร้างองค์กรและธุรกิจ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตและพร้อมรองรับทุกสถานการณ์อันไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ปตท. ยังได้ควบคุมค่าใช้จ่ายตามนโยบาย “ลด ละ เลื่อน” กันอย่างจริงจัง โดยลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ช่วยกันบริหารจัดการ การทำธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ บริหารความเสี่ยงด้านราคา อุปสงค์ อุปทาน  สินค้าคงคลัง รวมถึงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและงบประมาณองค์กรเพื่อให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ในการบริหารสภาพคล่องกรณีที่อาจจะมีการระบาดของCovid-19 รอบใหม่ ปตท.ได้ขออนุมัติกรอบวงเงินจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการออกหุ้นกู้เอาไว้แล้ว1.5 แสนล้านบาท  แต่โดยเบื้องต้นเตรียมที่จะออกเป็นหุ้นกู้ช่วงแรก 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจได้ว่าแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ปตท.จะยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

Advertisment