เขียนเล่าข่าว EP. 53 ชำแหละโครงสร้างราคาน้ำมัน ใน 1 ลิตร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?

- Advertisment-

หลายคนอาจสังเกตว่า สถานีบริการมักมีการประกาศปรับราคาขายปลีกน้ำมันกันอยู่เรื่อย ๆ ทั้งปรับขึ้น และปรับลง ราคาน้ำมันที่ต้องจ่ายต่อลิตรดังกล่าว อาจจะทำให้เราอยากรู้ว่า มีค่าใช้จ่ายอะไรซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง ทำไมราคาจึงไม่ถูกเหมือนประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center  (ENC)  ขอชำแหละออกมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ดังนี้

โครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ (1) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (2) ภาษีและกองทุนต่าง ๆ ที่เป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคา หรือ ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐ และ (3) ค่าการตลาด ซึ่งโครงสร้างในแต่ละส่วนจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามนโยบายด้านพลังงานของแต่ละประเทศนั้น ๆ

และที่มีการเปรียบเทียบว่าราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ถูกกว่าไทยนั้น เกิดจากปัจจัยส่วนที่ 2 คือ ภาษีและกองทุนต่าง ๆ  โดยมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเหลือได้ใช้แล้วส่งออกจึงไม่มีการจัดเก็บภาษี แถมยังเอารายได้จากการส่งออกมาอุดหนุนราคาในประเทศด้วย ในขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันที่ได้ไม่เพียงพอกับการใช้ จึงต้องนำเข้าน้ำมันมาให้เพียงพอต่อความต้องการ เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ และมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าเพื่อไม่ให้เกิดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้น ราคาขายปลีกจึงสูงกว่ามาเลเซียนั่นเอง

- Advertisment -

มาดูในรายละเอียดโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศไทยกัน ซึ่งประกอบด้วย

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน คือน้ำมันส่วนที่ซื้อมาจากโรงกลั่น หรือที่เรียกว่า “ราคา ณ โรงกลั่น” มีสัดส่วนประมาณ 71% ของราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งต้นทุนเนื้อน้ำมันใช้หลักการกำหนดราคาแบบ Import Parity ซึ่งอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย (ไม่ได้เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้) โดยราคาน้ำมันส่วนนี้ จะมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทย และรวมค่าขนส่ง (ซึ่งในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามระยะทาง) ทั้งนี้หลักการกำหนดราคาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกันกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และมาเลเซีย รวมถึงออสเตรเลีย เป็นต้น

2. ค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของราคาน้ำมัน ประกอบด้วย

 – ภาษีสรรพสามิต ที่กรมสรรพสามิตเป็นผู้เรียกเก็บให้เป็นรายได้ของภาครัฐ เนื่องจากน้ำมันจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยแก๊สโซฮอล์ 95 เก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ลิตรละ 5.85 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล B7 เก็บลิตรละ 5.99 บาทต่อลิตร (ณ วันที่ 14 พ.ค. 2567)

– ภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต

 – ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐเรียกเก็บ ณ ที่จุดจำหน่ายเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น ๆ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตรา 7%

สำหรับเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บโดยกระทรวงพลังงานผ่านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเมื่อเกิดภาวะราคาน้ำมันผันผวนนั้น ในส่วนของแก๊สโซฮอล์ 95 ณ วันที่ 14 พ.ค. 2567 เก็บอยู่ 3.40 บาทต่อลิตร ส่วนดีเซล B7 ปัจจุบัน นอกจากจะไม่เก็บแล้ว ยังใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยอยู่ลิตรละ 2.58 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ในกรอบเพดานตามนโยบายของรัฐ

  • เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนอุดหนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงาน สำหรับสนับสนุนการค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานของประเทศ มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำกับควบคุม ซึ่งแก๊สโซฮอล์ 95 และดีเซล B7 เก็บเท่ากันที่ 0.05 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 14 พ.ค. 2567  

อย่างไรก็ตามนโยบายในการจัดเก็บภาษีและเงินกองทุนต่างๆ จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

3. ค่าการตลาด ซึ่งยังไม่ใช่กำไรของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพราะต้องหักค่าการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริหารจัดการดูแลสถานีบริการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด 7% อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่มีผลต่อการปรับขึ้นหรือลงของราคาน้ำมันมากที่สุดคือ ส่วนของราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งจะอิงกับราคาตลาดโลก ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีความผันผวนในระดับสูง รัฐจึงพยายามที่จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้บริโภคด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงเป็นการชั่วคราว หรือปรับลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้บริโภคจะช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายตัวเองและค่าใช้จ่ายของประเทศได้ ก็คือ การเห็นคุณค่าและใช้พลังงานอย่างประหยัด เช่น วางแผนการเดินทางให้ดี ดับเครื่องเมื่อต้องจอดแช่นาน ๆ ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด ปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน เป็นต้น เพราะน้ำมันเป็นสินค้าที่ต้องนำเข้า ซึ่งสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ จะทำให้เรามีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไปอีกนานในอนาคต

Advertisment