ชงกพช.24ม.ค.นี้ขอแก้ราคารับซื้อไฟฟ้าSPP Cogen ก่อนให้ต่ออายุสัญญา

1109
cof
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานพร้อมเสนอวาระการต่อสัญญาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทพลังงานความร้อนร่วม(SPP Cogeneration)ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 24 ม.ค. 2562 นี้ พิจารณาแล้ว หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สรุปหลักเกณฑ์แล้วเสร็จ  โดยแหล่งข่าว ระบุยังยืนหลักการเดิม แต่ขอแก้ไขราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ ส่วนกรณีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทชีวมวล(SPP ชีวมวล) ที่ยื่นขอใช้ระบบ Feed in Tariff -FIT ยังไม่มีการพิจารณา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้สรุปรายละเอียด  “การต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทพลังงานความร้อนร่วม(SPP Cogeneration)” มาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว และจะนำเข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้พิจารณา ในวันที่ 24 ม.ค. 2562 แน่นอน รวมทั้งยังคงมีวาระการพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ(PDP)ฉบับใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตามในการประชุม กพช.ครั้งนี้ จะยังไม่มีการพิจารณากรณีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กประเภทชีวมวล(SPPชีวมวล)ที่จะขอให้มาตรการสับสนุนการผลิตไฟฟ้ารูปแบบ “การให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff -FiT ”  เนื่องจากรายละเอียดยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีรัฐมนตรีพลังงานเป็นประธาน

- Advertisment -

สำหรับวาระการต่ออายุ SPP Cogenerationที่จะเสนอให้กพช.พิจารณานั้น จะเป็นการขอแก้ไข มติเดิมที่  เคยผ่านการพิจารณาของ กพช. เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559 มาแล้ว โดยยังคงหลักการให้โรงไฟฟ้าเก่าสามารถต่อสัญญาได้ 3 ปี ขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่จะทำสัญญาเป็นเวลา 25 ปี ขายไฟฟ้าไม่เกิน 30 เมกวัตต์ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนราคารับซื้อไฟฟ้าใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น  โดยกลุ่ม SPP Cogeneration ที่จะหมดอายุสัญญาโรงไฟฟ้าระหว่างปี 2560-2568 มีจำนวน 25 ราย รวมปริมาณไฟฟ้า ที่เสนอขาย740 เมกะวัตต์

สำหรับมติ กพช.ที่ผ่านมา ( 30 พ.ค. 2559 ) เกี่ยวกับSPP-Cogeneration นั้นได้กำหนดแนวทางสนับสนุน SPP-Cogeneration เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 60–61 (ต่ออายุสัญญา) ให้มีระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า (ณ ราคาก๊าซ 263 บาทต่อล้านบีทียู) ในอัตรา 2.3753 บาทต่อหน่วย

กลุ่มที่ 2 : SPP-Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 62–68 (ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่) ให้มีระยะเวลาสัญญา 25 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 30 เมกะวัตต์และไม่เกิน 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมไอน้ำ (Net Generation) ไฟฟ้ารวมไอน้ำ และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาทต่อหน่วย (ที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 263 บาทต่อล้านบีทียู) ทั้งนี้ โครงการ SPP-Cogeneration ที่ได้รับสิทธิการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้ดำเนินการก่อสร้างได้ในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม

ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(SPP)ประเภทชีวมวล กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับทราบแล้วว่า ในการประชุม กพช.ในวันที่ 24 ม.ค. 2562 นี้จะยังไม่มีการพิจารณากรณีการขอใช้ระบบฟีทอินทารีฟของผู้ประกอบการSPPชีวมวลรายเก่า ที่มีประมาณ 30 ราย  ซึ่งยังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง แต่ผู้ประกอบการ SPPชีวมวลจะหารือร่วมกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเห็นว่าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จำเป็นต้องรอให้ภาครัฐพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาให้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SPPชีวมวลได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงานหลายครั้ง เพื่อขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับรูปแบบการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มดังกล่าวจากที่มีการรับซื้อในหลายรูปแบบ เพราะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรุ่นแรก ให้เป็นรูปแบบFiT เหมือนกับกลุ่ม ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(VSPP)ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล เพื่อให้ต้นทุนอยู่ระดับเหมาะสมและแข่งขันด้านการซื้อวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าได้

Advertisment