กพช. นัดถก​ ​1​ เม.ย. นี้คาดไฟเขียว​ Shipper ​นำเข้า LNG ตามแผน

- Advertisment-

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) นัดถก​ 1​ เม.ย.64​ นี้​เน้นวาระสำคัญเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ให้ Shipper นำเข้า​ LNG​ ได้ตามใบอนุญาต​ ส่วนประเด็นแหล่งเอราวัณอาจผลิตไม่ต่อเนื่อง​หลังสิ้นสุดสัมปทาน ปตท.จะได้สิทธิ์เป็นผู้นำเข้า​LNG​ มาทดแทนเพื่อความมั่นคง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน​ จะมีการประชุมในวันที่ 1 เม.ย. 2564 นี้​ เพื่อพิจารณาวาระการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยหากที่ประชุมอนุมัติตามแนวทางที่กระทรวงพลังงานเสนอ​ จะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ​ (Shipper) จาก​ กกพ.สามารถนำเข้าก๊าซฯได้ เพื่อนำเข้าก๊าซฯมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาก๊าซฯที่ทำกับ บริษัท ปตท.จำกัด​ (มหาชน) ได้ตามแผนที่เคยเสนอไว้กับ​ กกพ.

ส่วนการผลิตก๊าซฯในแหล่งเอราวัณที่อาจจะไม่สามารถผลิตได้ต่อเนื่องหลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน​ เม.ย. 2565 ที่จะทำให้ก๊าซบางส่วนหายไปจากระบบและต้องนำเข้า​ LNG​ เข้ามาทดแทนนั้น ปริมาณดังกล่าวจะมีการนำเข้า LNG โดย ปตท.เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ​

- Advertisment -

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตก๊าซฯในแหล่งเอราวัณไม่ต่อเนื่องนั้น อันดับแรกจะกระทบต่อโรงแยกก๊าซฯ ก่อน ซึ่งจะมีผลไปถึงธุรกิจปิโตรเคมีด้วย ดังนั้นภาครัฐจะต้องเร่งแหล่งผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยให้ผลิตมากขึ้นเพื่อป้อนโรงแยกก๊าซฯให้เพียงพอก่อน

โดยในส่วนโรงไฟฟ้านั้น​ ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าจะขึ้นอยู่กับราคา LNG ตลาดโลกในขณะนั้นว่ามีราคาแพงกว่าก๊าซจากอ่าวไทยแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ (กกพ.)ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตการเป็น Shipper แก่ผู้ประกอบการแล้ว 5 ราย ได้แก่

  1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  3. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  5. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด

ทั้งนี้ที่ประชุม กพช.ในวันที่ 1 เม.ย. 2564 นี้ จะพิจารณา Shipper 3 รายว่าจะสามารถนำเข้าก๊าซฯได้หรือไม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท กัลฟ์ฯ บริษัท หินกองเพาเวอร์ฯ และบริษัท บี.กริมฯ

ขณะที่ กกพ. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใบอนุญาต Shipper อีกอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก, บริษัทลูกในกลุ่มของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นต้น และบริษัทในกลุ่ม SCG เป็นต้น ซึ่ง กกพ.ต้องรอมติ กพช.เกี่ยวกับการเปิดเสรีก๊าซฯระยะที่ 2 ให้ประกาศออกมาก่อน จึงจะพิจารณาใบอนุญาต Shipper ดังกล่าวได้

Advertisment

- Advertisment -.