ขยับประกาศซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนQuick Win จาก17 เม.ย.เป็นภายในสิ้นเม.ย.นี้

1976
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน ขยับการออกทีโออาร์รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick win ในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ จากกำหนดเดิม 17 เม.ย.เป็นภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ เหตุต้องดำเนินตามขั้นตอน ที่คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ จะต้องให้ความเห็นชอบก่อน พร้อมระบุผู้ได้สิทธิ์ขายไฟฟ้า ต้องหักรายได้ค่าไฟเข้าทั้งกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าของกกพ. ที่มีอยู่เดิม

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า การออกทีโออาร์รับซื้อไฟฟ้า ”โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการ Quick Win) หรือโครงการระยะเร่งด่วน” รวมปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะขยับระยะเวลาออกไปจากกำหนดเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยประกาศไว้ว่าเป็น  17 เม.ย. 2563 นี้  ออกไปเป็นภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้แทน เนื่องจากจะต้องมีการดำเนินการขออนุมัติตามขั้นตอนให้ถูกต้องก่อน

โดยในวันที่ 15 เม.ย. 2563 นี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)จะจัดส่งหลักเกณฑ์สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯให้คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานพิจารณาก่อน  ซึ่งเมื่อได้รับความเห็นชอบจึงจะส่งมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) นำไปออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้  ทั้งนี้หลักเกณฑ์ที่กำหนดในทีโออาร์ จะสอดคล้องกับประกาศระเบียบ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พศ.2563” ของกกพ. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขั้นตอนหลังจากที่ กกพ.ประกาศทีโออาร์รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Quick Win และมีผู้ยื่นสมัครเข้ามาตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว  ทางคณะกรรมการบริหารฯ จะเป็นผู้พิจารณาว่ามีรายใดบ้างที่เห็นสมควรให้รับซื้อไฟฟ้าได้ จากนั้น จะส่งรายชื่อให้ กกพ.เป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมโครงการและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement -PPA )กับทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ต่อไป ซึ่งจะต้องมีการวางหลักประกันและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญา PPA

ทั้งนี้หากมีผู้สมัครเข้ามาเกิน 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เกินจะถูกตัดไปพิจารณาในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากประเภททั่วไป ซึ่งจะเป็นรอบต่อไปที่จะเปิดรับซื้อปริมาณไม่เกิน 600 เมกะวัตต์​ แต่หากการสมัครรอบ Quick Win นี้ไม่ครบ 100 เมกะวัตต์ ก็อาจพิจารณาเอาโควต้าที่เหลือไปให้โครงการในรอบทั่วไปแทนก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารฯต่อไป

นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ผ่านมา  ซึ่งเห็นชอบให้จัดตั้ง “กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน” ขึ้นด้วยนั้น ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะมีการหารือกับปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณารูปแบบ วิธีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะแยกออกจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่ ทาง กกพ. เป็นผู้ดูแล

โดยเบื้องต้น กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีรายได้จากการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ โดยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต้องนำส่งเงินส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ให้กองทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและก๊าซชีวภาพกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุน 25 สตางค์ต่อหน่วย  แต่หากเป็นประเภทเชื้อเพลิงผสมผสาน หรือ Hybrid เช่น ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและโซลาร์เซลล์​ จะต้องจ่ายในส่วนของชีวมวล 25 สตางค์ต่อหน่วยและจ่ายส่วนของโซลาร์เซลล์อีก 50 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับเงินกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะเก็บไว้สำหรับพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก อย่างไรก็ตามนอกจากผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว ยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปกติด้วย ทั้งนี้มั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระผู้ผลิตไฟฟ้ามากเกินไปและผู้ผลิตไฟฟ้ารับได้ เพราะทราบข้อมูลล่วงหน้าก่อนเข้าร่วมโครงการแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจะยังคงมีกำไรแม้จะต้องจ่ายเงินทั้งสองกองทุนก็ตาม อีกทั้งเชื่อว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนโรงไฟฟ้าชุมชนจะไม่ซ้ำซ้อนกับกองทุนพัฒนาพลังงานแน่นอน โดยกระทรวงพลังงานจะกำหนดรายละเอียดและประกาศให้ทราบอีกครั้ง

ทั้งนี้การจัดตั้งกองทุนฯไม่จำเป็นต้องเร่งจัดตั้งให้เสร็จก่อนถึงกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ( COD) ของผู้ผลิตไฟฟ้า เพราะหากกองทุนฯยังตั้งไม่เสร็จแต่มีการ COD ไฟฟ้าแล้ว ภาครัฐสามารถเรียกเก็บเงินตามอัตราส่งเข้ากองทุนฯ ไว้ก่อนได้ เพื่อรอให้กองทุนฯ จัดตั้งเสร็จ

Advertisment