รัฐเดินหน้าซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แม้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ

- Advertisment-

เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ฉุดความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำจนมีปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ โดยราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศระเบียบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อ 2 เม.ย. 2563 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมีสาระสำคัญ ห้ามเปลี่ยนแปลงเชื้อเพลิง ปริมาณและสายป้อนfeeder,ห้ามนำเชื้อเพลิงอื่นหรือไฟฟ้าอื่นเข้าระบบ หากพบผิดมีโทษปรับ 5,000 บาทต่อกิโลวัตต์,ต้องวางเงินประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 500 บาทต่อกิโลวัตต์​ และหากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา 360 วันนับแต่วัน SCOD  จะถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุดและริบหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันที โดยการยื่นเสนอขายไฟฟ้าต้องรอ กกพ. ประกาศก่อน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศระเบียบ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ 2563” ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา   ท่ามกลางการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฉุดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงและปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบของปี 2563 สูงเกิน 40%

โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่จ่ายเข้าระบบของการไฟฟ้าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

- Advertisment -

รวมทั้งห้ามผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า VSPP ที่ได้ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าแล้ว เปลี่ยนแปลงข้อมูลในด้าน ประเภทพลังงานหมุนเวียน,ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามแต่ละประเภทของพลังงานหมุนเวียน และ สายป้อน (Feeder) ที่โครงการเชื่อมโยง พร้อมกันนี้กำหนดให้ ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP ต้องนำใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนดมาแสดงต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์( COD) และต้องส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าและ ประกาศที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP สามารถใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ได้ 4 ประเภท คือ 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ 4.เชื้อเพลิงแบบผสมผสาน (Hybrid) ระหว่าง ชีวมวล และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และ/หรือ ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์

ห้ามผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากนำเชื้อเพลิงอื่นมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า หรือนำพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นมาขายเข้าระบบ หากฝ่าฝืนถือว่าผิดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุดลง โดยผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องเสียค่าปรับ 5,000 บาทต่อกิโลวัตต์ ตามปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

สำหรับการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้านั้น ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ในการ เชื่อมโยงระบบไฟฟ้าหรือปรับปรุงระบบไฟฟ้า การตรวจสอบระบบอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พร้อมกันนี้ผู้ผลิตไฟฟ้า VSPP จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันความเสียหายของระบบไฟฟ้า หากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากความบกพร่องทางด้านอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าหรือสาเหตุอื่นๆ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ฝ่ายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายดังกล่าว

พร้อมกันนี้ให้วางหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายก่อนวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขาย โดยจะคืนหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในกรณี 1.ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) 2.ถอนความจำนงขอขายไฟฟ้าช่วงยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า 3.ไม่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการบริหาร 4.เมื่อลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้ว เป็นต้น

กรณีที่ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตามกำหนด ทางการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีสิทธิคิดค่าปรับจากความล่าช้าได้ในอัตรา 0.33% ต่อวัน ของวงเงินหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายหลังจากครบ 60 วัน นับแต่วันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) เว้นกรณีเหตุสุดวิสัยหรือจากความผิดของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย  และถ้าไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ภายในระยะเวลา 360 วันนับแต่วัน SCOD แล้ว ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุด และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีสิทธิริบหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ทันที

ส่วนหลักเกณฑและวิธีการคำนวณการรับซื้อไฟฟ้านั้น กำหนดให้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ให้วัดจากปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายจริงในเดือนนั้นๆ จากมาตรวัดไฟฟ้า (Meter) ที่จุดรับซื้อไฟฟ้าตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนดเพื่อซื้อขายไฟฟ้าเพียงจุดเดียว โดยกรณีที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหลายประเภท (Hybrid) ให้ติดตั้งมาตรวัดไฟฟ้าตามที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายกำหนด ตามความเห็นชอบของ กกพ. โดยแยกประเภทเชื้อเพลิง และราคารับซื้อไฟฟ้า

นอกจากนี้ กรณีมีการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) ห้ามนำไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมาขายคืน โดยผู้ผลิตไฟ้าจะต้องติดตั้งระบบป้องกันการประจุแบตเตอรี่/ประจุระบบกักเก็บพลังงาน ณ ขณะที่รับไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยจะต้องรับพลังงานไฟฟ้าเข้า และจ่ายพลังงานไฟฟ้าออกด้วยประเภทพลังงานหมุนเวียนเดียวกัน

สำหรับอัตราซื้อขายไฟฟ้ากำหนดให้ใช้ในรูปการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(FiT) เป็นเวลา 20 ปี ได้แก่ ประเภทที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาทต่อหน่วย,ชีวมวลที่กำลังผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์อัตรารับซื้อ 4.84 บาทต่อหน่วย หากกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อัตรา 4.26บาทต่อหน่วย ส่วนก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)อัตรา 3.76 บาทต่อหน่วย สำหรับก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) แบ่งเป็นกรณีพืชพลังงาน 100% อัตรา 5.37บาทต่อหน่วย กรณีผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25% อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย แต่หากเป็นโครงการที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้(ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (จะนะ,เทพา,สะบ้าย้อย,นาทวี) จะได้รับการบวกเพิ่มอัตรารับซื้ออีก 50 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับการยื่นเสนอขายไฟฟ้านั้น ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าVSPP สามารถ ยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่ ได้แก่  การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ฝ่ายเศรษฐกิจพลังไฟฟ้า อาคาร 16 ชั้น 5 เลขที่ 121 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 และที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) กองส่งเสริมพลังงานทดแทนและผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก เลขที่ 200 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โดยเมื่อคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคัดเลือกแล้ว จะจัดส่งรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณา มายังการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและ กกพ. เพื่อประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกที่มีสิทธิลงนามในสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.