กองทุนน้ำมันฯ เตรียมเปิดเชิญชวนแบงค์ปล่อยกู้สัปดาห์หน้า คาดได้เงินพยุงกองทุนฯภายใน พ.ย.นี้

214
N4027
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เตรียมพิจารณาวงเงินกู้ก้อนแรกพยุงกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงแผนการชำระหนี้ หลังกระบวนการด้านกฎหมายต่างๆ ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว เผยอาจกู้ไม่ถึง 3 หมื่นล้านบาท ที่บรรจุไว้ในหนี้สาธารณะ ระบุภายในสัปดาห์หน้าเปิดเชิญชวนสถาบันการเงินแข่งขันปล่อยกู้ได้ มั่นใจเงินเข้ากองทุนฯ เสริมสภาพคล่องได้ภายในเดือน พ.ย. 2565 ท่ามกลางสถานการณ์กองทุนฯ ติดลบสูงสุดถึง 1.28 แสนล้านบาท   

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เตรียมประชุมเร็วๆนี้ เพื่อกำหนดวงเงินกู้ครั้งแรกและแผนการชำระหนี้เงินกู้ที่ชัดเจน ภายหลังจากได้มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ผ่านความเห็นชอบ 3 แผน ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.)แล้ว คือแผนการกู้เงิน, แผนการชำระหนี้ และแผนการใช้จ่ายเงินกู้  

นอกจากนี้กฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ก็มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค. 2566 ซึ่งหลังจากนี้ สกนช. จะเตรียมขั้นตอนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะประกาศเชิญชวนสถาบันการเงินต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมปล่อยกู้ในรูปแบบการประมูลที่รายใดเสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ดีที่สุดจะได้รับการพิจารณาก่อน 

- Advertisment -

และหลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์พิจารณาเลือกสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ คาดว่ากองทุนฯ จะได้รับเงินในเดือน พ.ย. 2565 นี้

สำหรับวงเงินก้อนแรกของ 1.5 แสนล้านบาท ที่ได้บรรจุไว้ในหนี้สาธารณะแล้ว คือวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่ง กบน. จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเริ่มต้นกู้เท่าไหร่ ซึ่งอาจไม่ถึง 30,000 ล้านบาท โดยจะดูตามความจำเป็นในการใช้เงินเป็นหลัก ซึ่งหากไม่จำเป็นจะไม่กู้มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นภาระหนี้ประเทศ ทั้งนี้หากในอนาคตจำเป็นต้องกู้เพิ่ม เช่น 20,000 ล้านบาท ก็ต้องให้ ครม. บรรจุวงเงินนั้นไว้ในหนี้สาธารณะก่อน จึงจะเริ่มกู้ได้ แต่โดยรวมต้องไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และมีระยะเวลาให้ทำเรื่องกู้ได้ไม่เกิน  1 ปี แต่ไม่จำเป็นต้องกู้ให้ครบ 1.5 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก 

โดยภายหลังครบระยะเวลา 1 ปี กองทุนฯ จะต้องกลับมาสู่ข้อกำหนดเดิมคือ มีวงเงินได้สูงสุดไม่เกิน 40,000 ล้านบาท และกู้ได้ครั้งละไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ต่อไป

สำหรับแผนการชำระหนี้นั้น ต้องขึ้นอยู่กับวงเงินที่กู้ออกมาและสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG)ในขณะนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาแผนการชำระหนี้ ในอตีตที่ผ่านมาเคยกู้ถึง 7-8 หมื่นล้านบาท และชำระหนี้หมดภายใน 3-4 ปี และอีกครั้งสมัยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เคยกู้ 1 หมื่นล้านบาท และชำระหมดภายใน 1 ปี เป็นต้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก เพราะเจอทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมทั้งปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติราคาพลังงานโลกสูง ดังนั้นแผนการชำระหนี้จะต้องดูตามสถานการณ์ปัจจุบันประกอบกัน 

ส่วนสถานะกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 23 ต.ค. 2565 กองทุนฯ ติดลบรวม 128,353 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ85,587 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 42,766 ล้านบาท 

โดยกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากการเก็บเงินน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลพรีเมียม ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน  หรือประมาณ 66-100 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่มีรายจ่ายสำหรับน้ำมันอยู่ที่ 166 ล้านบาทต่อวัน และรายจ่ายด้าน LPG อีก  21.85 ล้านบาทต่อวัน และล่าสุดที่ประชุม กบน. วันที่ 28 ต.ค. 2565 ได้พิจารณาปรับเพิ่มการชดเชยราคาดีเซลอีกครั้งจากเดิมชดเชยอยู่ 2.57 บาทต่อลิตร เป็น 2.86 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลเท่าเดิมที่ 34.94 บาทต่อลิตรต่อไป 

Advertisment