กกพ.อนุมัติ PTTGL และ SCG เป็น Shipper นำเข้า LNG รายใหม่

3412
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) อนุมัติใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper )เพิ่มเติมให้กับ 2 บริษัทใหญ่ทั้ง PTTGL และ SCG พร้อมทำหนังสือสอบถามความต้องการใช้สิทธิ์โควต้านำเข้า LNG 4.8 แสนตัน ปี 2564 หลังจากส่งหนังสือถึง 5 Shipper ไปก่อนหน้านี้แล้ว ระบุขณะนี้ยังไม่มีรายใดยืนยันการนำเข้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 ได้เห็นชอบให้ใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ ( Shipper ) กับ 2 บริษัท คือ 1. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL และ 2.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

สำหรับ PTTGL ได้ขออนุญาตเป็น Shipper เพื่อต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) ขายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับบริษัท ปตท.จำกัด ( มหาชน ) หรือ กลุ่มโรงไฟฟ้ารายเก่า ที่มีสัญญาซื้อก๊าซฯแบบ Non-firm และต้องการเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LNG จาก Shipper รายใหม่

- Advertisment -

ส่วน SCG ต้องการนำเข้า LNG เพื่อขายให้กับกลุ่มบริษัท SCG ที่ต้องการใช้ก๊าซฯโดยตรง ดังนั้น SCG จะต้องขอใบอนุญาตค้าปลีกก๊าซฯกับ กกพ. ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา SCG ยังไม่มีการค้าปลีกก๊าซฯ มาก่อน ขณะที่ Shipper รายอื่นนำ LNG ไปขายต่อให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตค้าปลีก LNG อยู่แล้ว หรือขายให้กับโรงไฟฟ้าโดยตรง จึงไม่ต้องขอใบอนุญาตค้าปลีก

อย่างไรก็ตามการได้รับใบอนุญาต Shipper ของทั้ง 2 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันมี Shipper รายใหม่ รวมทั้งสิ้น 7 ราย ที่สามารถขอโควต้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) 4.8 แสนตัน ของปี 2564 ได้

ทั้งนี้หลังจาก กกพ. อนุมัติให้ทั้ง 2 รายได้ใบอนุญาต Shipper แล้ว ในวันที่ 15 ก.ค. 2564 ทาง กกพ. ได้ทำหนังสือสอบถามปริมาณความต้องการนำเข้า LNG โควต้า 4.8 แสนตัน ไปยังบริษัท PTTGL และ SCG ด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง Shipper ทั้ง 5 รายครบแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายใดตอบกลับยืนยันการนำเข้า LNG แม้แต่รายเดียว ดังนั้นในสัปดาห์หน้า กกพ.จะโทรศัพท์ติดต่อไปยังแต่ละรายเพื่อขอความชัดเจนอีกครั้ง

เบื้องต้น กกพ. ทราบมาว่ามีบางบริษัทฯ ยืนยันจะยังไม่ใช้โควต้า LNG 4.8 แสนตันดังกล่าว เนื่องจากเป็นปริมาณน้อยไม่คุ้มค่ากับการนำเข้า และอาจไปรอนำเข้าโควต้าของปี 2565 แทนเพราะมีปริมาณโควต้าถึง 1.74 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามการนำเข้าโควต้าปี 2564 นี้ ทาง Shipper สามารถรวมตัวกันเพื่อนำเข้าได้ด้วย เนื่องจากการนำเข้าเพียงรายเดียวอาจไม่คุ้มค่าต่อการขนส่งได้ แต่ทั้งนี้ต้องรอเอกสารตอบกลับอย่างเป็นทางการจึงจะทราบว่ามีรายใดจะนำเข้า LNG จริงบ้าง

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับการจัดทำหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG จาก Shipper นั้น ทาง กกพ.ได้ดำเนินการจัดทำมากว่า 1 เดือนแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ทั้งที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบและไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งยืนยันว่าในปี 2564 นี้ยังไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น และคาดว่าโรงไฟฟ้าใหม่จะเริ่มมีในปี 2565 เป็นต้นไป โดยโรงไฟฟ้าที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบเป็นโรงแรกๆ ที่จะใช้หลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ใหม่นี้ อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าหินกอง ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในอนาคต เนื่องจากยังไม่มีการลงนามซื้อขายก๊าซฯมาก่อน และเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างมีนโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ปัจจุบันมี Shipper ที่ กกพ.อนุมัติแล้วรวมทั้งสิ้น 8 ราย โดยมีเพียงบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็น Shipper รายเดิม ที่ไม่สามารถใช้โควต้านำเข้า LNG 4.8 แสนตันได้ เนื่องจาก มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 กำหนดโควต้าให้เฉพาะ Shipper รายใหม่นำเข้าเท่านั้น โดยแบ่งเป็นการนำเข้า LNG ปี 2564 จำนวน 4.8 แสนตันต่อปี , ปี 2565 จำนวน 1.74 ล้านตันต่อปี และปี 2566 จำนวน 3.02 ล้านตันต่อปี

สำหรับ Shipper รายใหม่ทั้ง 7 รายประกอบด้วย

  1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  2. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
  5. บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก
  6. บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL
  7. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG

ทั้งนี้มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เห็นชอบปริมาณการนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ปี 2564 – 2566 เพื่อรองรับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay เท่ากับ 0.48 ล้านตันต่อปี 1.74 ล้านตันต่อปี และ 3.02 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ โดยมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติในระยะที่ 2 คือ Regulated Market ( กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ. จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ ) และ Partially Regulated Market ( กลุ่มที่จัดหา LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง ) สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper รวมทั้งกำกับดูแลต่อไป

Advertisment