กรมเชื้อเพลิงฯตรวจสอบย้อนหลัง90 วันยังไม่พบมีกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย

- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ย้ำ ตรวจสอบย้อนหลัง90วัน ยังไม่พบมีกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากกระบวนการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจากแหล่งปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย โดยอยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์ ปรากฏการณ์ก้อนน้ำมัน (Tarball)ที่ชายหาดหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสั่งกำชับดูแลอย่างใกล้ชิด   ในขณะที่ข้อมูลผลการวิเคราะห์ย้อนหลังตั้งแต่ปี2558-2562 ยังไม่พบ เคสคุณสมบัติของก้อนน้ำมันใด ที่ตรงกับน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยเลย

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีก้อนน้ำมัน หรือ Tar ball เกิดขึ้นบริเวณชายหาดหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563   ที่ผ่านมานั้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทผู้รับสัมปทานทุกรายที่มีการดำเนินงานในอ่าวไทยทันทีโดยตรวจสอบย้อนหลังไป 90 วัน พบว่าไม่มีการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากกระบวนการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นแก่ทุกภาคส่วน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประสานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างก้อนน้ำมัน เพื่อส่งไปวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์คุณสมบัติเปรียบเทียบกับน้ำมันดิบในอ่าวไทย ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนการวิเคราะห์ผล คาดว่าจะทราบผลในอีกประมาณ 1-2 เดือน

- Advertisment -

“สำหรับปรากฏการณ์ก้อนน้ำมัน จะเกิดขึ้นแทบทุกปีในช่วงหน้ามรสุม ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันไปวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของภารกิจในการกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเท่านั้น โดยจะวิเคราะห์คุณสมบัติก้อนน้ำมันที่เกิดตามชายฝั่งแล้วนำมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลน้ำมันดิบ     ที่ผลิตได้จากแท่นผลิตในอ่าวไทย โดยผลจากการตรวจวิเคราะห์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยพบว่า ตัวอย่างก้อนน้ำมันที่เกิดขึ้นเป็นชนิดเดียวกันกับตัวอย่างน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย

นอกจากนี้ ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม มีการกำกับดูแลและกำชับให้ผู้ประกอบการปิโตรเลียมทุกรายต้องดำเนินการตามมาตรการการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทุกพื้นที่อย่างเข้มงวด และเป็นไปตามมาตรฐานสากลและตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้การดำเนินกิจการปิโตรเลียมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบูรณาการการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพและการหาที่มาของก้อนน้ำมันที่เกิดขึ้นในแต่ละปีให้มีความชัดเจน เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนาม MOU เรื่อง การพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย ร่วมกันของ 10 หน่วยงาน ได้แก่
1. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
2. กรมควบคุมมลพิษ
3. กรมเจ้าท่า
4. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5. กรมศุลกากร
6. ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในส่วนกองทัพเรือ
7. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
8. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
9. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
10. สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

เพื่อจัดทำฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และเพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาของก้อนน้ำมันดังกล่าว โดยในขั้นตอนการบริหารจัดการ หากมีก้อนน้ำมันเกิดขึ้นตามชายหาด หน่วยงานท้องถิ่นจะเป็นผู้เก็บตัวอย่างและส่งให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อส่งต่อให้วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นผู้วิเคราะห์หาที่มาของก้อนน้ำมันดังกล่าว ให้มีความชัดเจนของแหล่งที่มาต่อไป โดยในการเกิดเหตุการณ์ก้อนน้ำมันในพื้นที่บริเวณหาดหัวไทรครั้งนี้ ก็ได้ดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวเช่นกัน

โดยข้อมูลจาก DMFFanpage ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุถึงผลสรุปการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของ ปรากฏการณ์ ก้อนน้ำมัน (Tar Ball) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2562 พบว่า คุณสมบัติก้อนน้ำมัน ในทุกตัวอย่าง ไม่ตรงกับน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยเลย

ทั้งนี้ก้อนน้ำมัน ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนน้ำมันสีดำขนาดเล็กนี้ สันนิษฐานว่ามีที่มาจากหลายสาเหตุ เช่น
1. การลักลอบปล่อยน้ำมันเรือที่ใช้แล้วจากเรือต่าง ๆ
2. อุบัติเหตุเรือขนส่งน้ำมันชนกัน หรือเรือล่มในทะเล
3. จากการขนถ่ายน้ำมัน
4. อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่ทะเลจากกิจกรรมปิโตรเลียม
5. เกิดตามธรรมชาติ

Advertisment

- Advertisment -.