กกพ.ห่วงสภาพคล่อง กฟผ. ปี2566 ติดลบสูง 75,000 ล้านบาท

1171

กกพ.ห่วงสภาพคล่อง กฟผ. ปี2566 ติดลบสูง 75,000 ล้านบาท ทำให้ต้องพิจารณาทยอยคืนภาระค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกให้ประชาชนไปก่อน ตั้งแต่ค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566

ท่ามกลางกระแสการคัดค้านการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรม นำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.)​ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.)​ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2565 ที่ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องใช้ไฟฟ้าในอัตราที่แพงขึ้นเป็น 5.69 บาทต่อหน่วย โดยต้องรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงแทนกลุ่มครัวเรือน ที่อยู่อาศัยซึ่งได้ใช้ไฟฟ้าที่คำนวณด้วยต้นทุนก๊าซจากอ่าวไทย และค่าไฟฟ้าที่ กกพ. พิจารณาใหม่ตามนโยบายของ กพช.นั้น มีการบวกรวมภาระหนี้ที่ต้องทยอยคืนให้กับ กฟผ. ด้วยประมาณ 33 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว​พลังงาน ( Energy News ​Center-ENC​ )​ รายงานว่า การพิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ของ กกพ. ตามมติ กพช. ที่รวมการทยอยคืนภาระหนี้ซึ่ง กฟผ.ช่วยแบกไว้ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน จำนวน 33 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท นั้น เนื่องจาก กกพ.ได้รับหนังสือของ กฟผ.ที่ส่งถึงประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565 แจ้งถึงผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐในการรับภาระค่าเอฟที

- Advertisment -

โดยสาระสำคัญในหนังสือ ระบุว่า กฟผ.ต้องแบกรับภาระต้นทุนการจ่ายค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ที่สูงกว่าค่าเอฟทีที่ กกพ.เห็นชอบ ( Accommulated Factor -​AF )​ ตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 -​ส.ค. 2565 คิดเป็นเงินสะสม 125,880 ล้านบาท โดยประเมินตัวเลขภาระถึงเดือน ธ.ค. 2565 จะสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่ง กฟผ.ไม่อาจจะรับภาระเพิ่มได้อีก เนื่องจากจะกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. ในปี 2566 เป็นอย่างมาก

โดยหากการคำนวณค่าเอฟทีของ กกพ.ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ไม่ได้คิดรวมเงินที่ต้องทยอยคืนให้ กฟผ. จะทำให้ กฟผ.มีสภาพคล่องทางการเงินที่ติดลบสูงสุดในวันที่ 28 ธ.ค.2566 ประมาณ 75,000 ล้านบาท

N4421

สภาพคล่องที่ติดลบดังกล่าวจะกระทบต่อการชำระค่าเชื้อเพลิงให้กับ ปตท. และการนำเงินส่งรัฐ รวมทั้งการชำระคืนหนี้เงินกู้ ที่มีกำหนดต้องชำระคืนในเดือน พ.ค.2568 จำนวน 25,000 ล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระ​วาณิชย์​ เลขาธิการสำนักงาน​คณะ​กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวชี้แจงกับสื่อมวลชนถึง ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าเอฟที งวด เดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ว่า มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ​ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยก๊าซจากอ่าวไทย หลังผ่านโรงแยกก๊าซ ที่มีสัดส่วน 45% มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 238 บาทต่อล้านบีทียู ก๊าซจากเมียนมาร์ที่มีสัดส่วน 17% เฉลี่ยอยู่ที่ 392 บาทต่อล้านบีทียู LNG สัญญาระยะยาว ที่มีสัดส่วน 20% เฉลี่ยอยู่ที่ 536 บาทต่อล้านบีทียู และLNG ตลาดจร สัดส่วน 18 % เฉลี่ยอยู่ที่ 1,191 บาทต่อล้านบีทียู ทำให้ เมื่อนำเฉพาะต้นทุนก๊าซจากอ่าวไทยมาคำนวณเป็นต้นทุนให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อน ทำให้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ต้องรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซที่แพงกว่าแทน

สำหรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับแทนประชาชนไว้ก่อนจนมีปัญหา​การขาดสภาพคล่องตามเอกสารที่ กฟผ. ชี้แจงถึง กกพ. นั้น จะพิจารณาทยอยคืนให้ในค่าเอฟที แต่ละงวด ตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 2 ปี

Advertisment