ไฮไลท์พลังงาน 2565 น้ำมันแพง กองทุนน้ำมันถังแตก ก๊าซแพง ค่าไฟแพง กฟผ.แบกหนี้อ่วม

- Advertisment-

ราคาพลังงานกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดของปี 2565 นี้ นับตั้งแต่ประเทศรัสเซียบุกโจมตียูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว สร้างภาระต่อค่าครองชีพ ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ​ให้กับประเทศผู้นำเข้าพลังงาน รวมถึงประเทศไทย

โดยราคา LNG (JKM) ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2564 ที่ประมาณ 10 เหรียญ​สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูในเดือน ต.ค.2565 และการประมาณการณ์แนวโน้มราคา LNG ในปี 2566 – 2567 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.)​ คาดว่าจะอยู่ที่ 25 – 33 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ในขณะที่ราคาน้ำมันโลกก็ผันผวน ทรงตัวระดับสูงมาตลอด โดยราคาเคยพุ่งทะลุ 140 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลไปเมื่อเดือน ก.ค. 2565 ก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญ​สหรัฐต่อบาร์เรล ( 22 ธ.ค. 2565 )​

- Advertisment -

ความผันผวนอย่างมากของราคาพลังงาน ในขณะที่ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ และรัฐบาลไทย ใช้นโยบายการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ยาวนาน เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพ​ของประชาชน ลดกระแสโจมตีทำลายคะแนนนิยมทางการเมือง ก็กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์​หน้าใหม่ให้วงการพลังงานไทยในเรื่องสำคัญ ดังนี้

1.กองทุนน้ำมันฯ ถังแตก เงินติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องมาประสบปัญหาเงินติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 133,405 ล้านบาท ( ข้อมูลวันที่ 20 พ.ย.2565 )​ ซึ่งสูงกว่าอดีตเมื่อปี 2547-2548 ที่กองทุนฯเคยติดลบสูงสุด 92,070 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการนำเงินไปพยุงราคาน้ำมันต่างๆ โดยเฉพาะดีเซลไม่ให้เกิน 34.94 บาทต่อลิตร และการพยุงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ในปัจจุบันไม่ให้เกิน 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม หลังจากราคาน้ำมันและ LPG ตลาดโลกพุ่งขึ้นไม่หยุดตลอดปี 2565

จนล่าสุดกองทุนฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการกู้เงินเบื้องต้น 3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 นี้ และที่เหลืออีก 1.2 แสนล้านบาทจะทำการกู้ต่อไปในปี 2566 ซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นๆ จากกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล 1.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีนโยบายขอเรี่ยไรเงินจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพราะเห็นว่ามีช่วงที่โรงกลั่นน้ำมันได้ค่าการกลั่นที่สูง แต่ก็ได้เฉพาะจากโรงกลั่นใจบุญกลุ่มปตท.ส่งเงินมาช่วยลดหนี้กองทุนได้ 3,000 ล้านบาท

2. ก๊าซแพงทำค่าไฟฟ้าแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ กฟผ.แบกหนี้อ่วม 1.5 แสนล้าน

ราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น จนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำเป็นต้องประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า แม้ภาครัฐจะช่วยพยุงค่าไฟฟ้าประชาชนมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่ก็ไม่สามารถต้านทานต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นได้ จนท้ายที่สุด กกพ. ได้ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าเกิน 4 บาทต่อหน่วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ค่าไฟฟ้ารวมเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

ในขณะที่การคาดการณ์ค่าไฟฟ้า ในส่วนของค่าเอฟที ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องทำให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ วันที่ 25 พ.ย. 2565 มีมติให้ กกพ.ไปคำนวณการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเอฟทีใหม่ โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มบ้านที่อยู่อาศัย ได้ใช้ไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่มีราคาต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ ก๊าซจากเมียนมาร์และก๊าซLNG นำเข้า

โดยในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่14 ธ.ค.2565 ได้นำนโยบายจาก กพช.มาคิดคำนวณค่าเอฟทีใหม่ ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ได้ใช้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่าเดิมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ทั้งกิจการขนาดเล็ก กลางและใหญ่ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมจะได้ใช้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยแพงกว่า คือ 5.69 บาทต่อหน่วย ซึ่งแพงที่สุดเป็นประวัติ​การณ์

คมกฤช ตันตระ​วาณิชย์​ เลขาธิการ​สำนักงาน ​กกพ. ระหว่างชี้แจงสื่อมวลชน​ถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า​

นโยบายรัฐบาลที่ช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ทั้งๆที่ต้นทุนเชื้อเพลิงแพงขึ้น ทำให้ กฟผ.ต้องช่วยแบกภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน นับตั้งแต่ค่าเอฟที งวด ก.ย.-ธ.ค.2564 เรื่อยมาถึง งวด ก.ย.-ธ.ค.2565 ตัวเลขกลมๆน่าจะอยู่ที่ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการแบกภาระค่าเอฟที สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์​

ยังดีที่รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2565 ได้อนุมัติให้ กฟผ.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องได้ 8.5 หมื่นล้านบาท

3.เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล็อตใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ 5.2 พันเมกะวัตต์

เรียกเสียงฮือฮาทันทีที่ภาครัฐประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนล็อตใหญ่เป็นประวัติการณ์ถึง 5,203 เมกะวัตต์ โดยเปิดรับซื้อไปเมื่อ 4-25 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าการเปิดรับซื้อครั้งนี้เพื่อนำไปขายเป็นไฟฟ้าสีเขียวให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้สำหรับเป็นการยืนยันกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมระบบไฟฟ้าในประเทศไทย จากกรณีที่ก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ยังไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญา จนไทยต้องไปพึ่งพา LNG มาใช้แทน ดังนั้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยเสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของไทยมากขึ้น และตอกย้ำว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อนด้วย

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) สรุปยอดผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 รวม 670 โครงการ ปริมาณ 17,400.41 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์มาก โดยจะมีการสรุปผู้ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการที่ชัดเจนอีกครั้งในต้นปี 2566 นี้ แต่ตามกระแสข่าว มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนหลายรายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์​แห่ง​ประเทศไทย​ต่างแสดงตัวออกมาแล้วว่าจะได้มีส่วนร่วมในหลายโครงการที่ยื่นไป

สำหรับความกังวลเรื่อง การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล็อตใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แพงขึ้นไปอีกหรือไม่ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.คมกฤช ตันตระ​วาณิชย์​ อธิบายด้วยการชี้ให้เห็นตัวเลขว่า ในโครงสร้างค่าไฟฟ้า มีต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยรวม ณ เดือน ม.ค.-เม.ย.2566 อยู่ที่ ประมาณ 3.46 บาทต่อหน่วย ถ้าตัวเลขรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สรุปออกมา ประเภทใด มีต้นทุนที่สูงกว่า 3.46 บาทต่อหน่วย ในปี2567 ที่โครงการจะเริ่มเข้าสู่ระบบ ก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้า แต่ประเภทที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2 บาทกว่าต่อหน่วย เช่น โครงการไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์​ ก็จะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงมา

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือVSPP ที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ​ 26 ราย ไปเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยจะได้อัตราส่งเสริม Feed in Tariff ที่ 6.08 บาทต่อหน่วย นั้น ชัดเจนว่าจะดึงให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะมีรายงานให้ กพช.รับทราบแล้วว่า คิดเป็นต้นทุนที่ต้องอุดหนุนตลอดอายุการรับซื้อสูงถึงประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

Advertisment

- Advertisment -.