ทีม PRISM Expert คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67-75 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล

- Advertisment-

ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67 – 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดการกลายพันธุ์และกลับมาระบาดอีกครั้ง รวมถึงอุปทานในตลาดที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในวันนี้ (25 พฤศจิกายน 2564) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาออนไลน์ 2021 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ “Global Climate Action for A Better World – ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ซึ่งทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม ปตท. หรือ PRISM Expert ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 เพื่อนำเสนอทิศทางและแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงาน กระแสของพลังงานในอนาคต และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกต่างจับตามอง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เปิดเผยว่า “ปี 2021 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมพลังงานยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกร่วมตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่อาจส่งผลต่อรูปแบบการใช้พลังงานทั่วโลก และความต้องการใช้น้ำมันที่ไม่แน่นอนนี้ ทำให้ผู้ผลิตฯ บางส่วนยังคงชะลอการผลิตและการลงทุน ส่งผลให้อุปทานไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ด้วยสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่วงที่ผ่านมา

- Advertisment -

ในขณะที่ การประชุม COP26 ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผ่านมา ปรากฏให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของนานาชาติในการร่วมกันกำหนดทิศทางประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้การเพิ่มอุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2050 กลุ่ม ปตท. พร้อมเป็นส่วนสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ พร้อมจัดหาพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อรักษาสมดุลและความมั่นคงทางด้านพลังงาน ให้ไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2065 ภายใต้วิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต”

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ท้าทาย ซึ่งส่งผลต่อราคาและทิศทางของอุตสาหกรรมพลังงาน คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป หรือ จีน หันมาตั้งเป้าหมายและกำหนดนโยบาย ที่ช่วยแก้ปัญหา Climate Change ซึ่ง Theme ของการสัมมนาในปีนี้ “Global Climate Action for A Better World … ประสานพลัง สร้างโลกที่ดีกว่า” ก็เป็นเหมือนเครื่องย้ำเตือนว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ รวมถึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตประจำวัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้”

นางสาว ชนัฐฐา ฤกษ์ชัยรัศมี ตัวแทนPRISM Expert จาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีม PRISM Expert ได้มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 67 – 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2564โดยในด้านดีมานด์ ยังต้องติดตามดูปัจจัยเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ด้านซัพพลาย ต้องจับตาดูการประชุมโอเปคพลัสในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ และการเจรจาของอิหร่านกับ 5 ประเทศเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการยกเลิกการคว่ำบาตร ในวันที่ 29 ธ.ค.64 นี้ ซึ่งหากได้ข้อสรุปว่าอิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันได้ จะทำให้มีซัพพลายเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตามยังมองว่าผู้ผลิตน้ำมันก็ยังคงจำกัดการผลิตอย่างระมัดระวัง และทำให้ปริมาณน้ำมันโลกยังตึงตัวเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ของโลกที่มากขึ้น

น.ส. ดาวรุ่ง ติรวงศ์กุศล PRISM Expert จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่า ในปี 2565 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยคาดว่าการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2564 ที่การใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวแม้จะยังไม่ถึง 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเติบโตมากขึ้นประมาณ 4.9% เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากขึ้น และทำให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่นานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโลกร้อน ดังนั้นในปี 2565 พลังงานน้ำมันจะถูกพลังงานสะอาดเข้ามาแทนที่ประมาณ 0.5-0.8 ล้านบาร์เรลต่อวันด้วย

น.ส. วิภาวี สายสุนทร PRISM Expert จากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ในการประชุม COP26 ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2050 ขณะที่จีนและอินเดีย ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากของโลก กำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2060-2070 แต่โลกก็ยังจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.8 องศา ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ COP 26 ตั้งเป้าให้อุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศา ดังนั้นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจำเป็นต้องเข้ามาร่วมมือให้มากขึ้น

นายอดิพล ตันนิรันดร PRISM Expertจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศา นั้น เทคโนโลยีจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาอุณภูมิโลกได้ เช่น ธุรกิจการบินปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด,การรีไซเคิลและใช้พลาสติกชีวภาพ ,การส่งเสริมการใช้พลังงานลม และแสงแดดมากขึ้น,การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น

นายกมลพันธ์ สุขเจริญ PRISM Expertจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การหยุดภาวะโลกร้อนต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน จนกระทั่งไปถึงการสร้างความร่วมมือระดับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเพิ่มพลังงานทางเลือกและการลดมลภาวะ การปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและการสร้างสัญญาณเตือนภัยให้กับประชากรโลกต่างๆ ซึ่งการเริ่มจากตัวเราก่อนและขยายไปถึงระดับประเทศ ก็จะช่วยสร้างโลกใบใหม่ที่สะอาดให้เกิดขึ้นได้

Advertisment

- Advertisment -.