กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คุมเข้มการกำจัดของเสียของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) ประกาศ “กำหนดมาตรการการจัดการของเสียจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2568” ถึง 23 พ.ค. 2568 เน้นการกำจัดของเสียต้องมีแผนชัดเจนและต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก่อนจึงจะกำจัดได้
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกคำสั่งเปิดรับฟังความเห็น (ร่าง) ประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเรื่อง “กำหนดมาตรการการจัดการของเสียจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2568”
ทั้งนี้เนื่องจากกฎกระทรวง “กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำรวจ ผลิตและอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. 2555” กำหนดให้ผู้รับสัมปทานใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อควบคุมการจัดการของเสีย สิ่งปฏิกูล วัสดุหรือสารเคมีที่ไม่ใช้แล้วจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียม ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้ออกประกาศดังกล่าวและเปิดรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องขึ้นมา โดยจะเปิดรับฟังความเห็นไปจนถึงวันที่ 23 พ.ค. 2568 ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
โดยสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวระบุว่า ผู้รับสัมปทานต้องจัดทำ “แผนการจัดการของเสีย” ส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนดำเนินการจัดการของเสีย เพื่อขออนุมัติจากอธิบดีฯ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วจึงจะสามารถเริ่มดำเนินการได้
สำหรับแผนการจัดการของเสีย ประกอบด้วย การจัดการของเสียตามลำดับขั้นในการจัดการของเสีย, รายการและปริมาณของเสีย, วิธีการจัดการของเสีย,สถานที่เก็บของเสีย, มาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงแผนตอบสนองในกรณีเกิดการหกรั่วไหลหรือเกิดภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น โดยหากอธิบดีฯ เห็นว่าแผนฯ ยังไม่ละเอียดถูกต้องเพียงพอ อาจสั่งให้ผู้รับสัมปทานแก้ไขเพิ่มเติมได้ โดยให้เวลา 50 วัน
ทั้งนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากแผนฯ ที่เสนอไปแล้วนั้น จะต้องแจ้งรายละเอียดและเหตุผลเป็นหนังสือส่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อขออนุมัติจากอธิบดีฯ ก่อนจึงจะดำเนินการได้ แต่หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการแตกต่างจากที่ระบุในแผนฯ ได้เท่าที่จำเป็นไปก่อน แต่ต้องแจ้งกรมเชื้อเพลิงฯ ทราบภายใน 24 ชั่วโมง และให้รายงานรายละเอียดและเหตุผลที่เป็นกรณีฉุกเฉินให้กรมเชื้อเพลิงฯ ทราบภายใน 72 ชั่วโมง นับแต่เกิดเหตุ และหากเกิดความเสียหายจากการดำเนินการนั้น ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบและมีภาระความรับผิดด้วย
นอกจากนี้ผู้รับสัมปทานต้องรายงานการจัดการของเสียรายเดือนส่งให้กรมเชื้อเพลิงฯ ผ่านทางโปรแกรมประยุกต์ของกรมเชื้อเพลิงฯ ภายใน 45 วัน หลังสิ้นสุดเดือนที่ดำเนินการ โดยต้องมีข้อมูลเบื้องต้น ได้แก่ ชื่อโครงการ แหล่ง ชื่อบริษัท แปลงสำรวจ เลขที่สัมปทาน, บัญชีรายการของเสีย, การจัดการของเสีย, สรุปรายการของเสียที่เป็นอันตรายที่ส่งไปบำบัดหรือกำจัดนอกสถานประกอบการปิโตรเลียม รวมทั้งชื่อผู้จัดทำรายงานและผู้ควบคุมดูแลการจัดการของเสีย
พร้อมกันนี้ผู้รับสัมปทานต้องจัดทำรายงานสรุปการจัดการของเสียรายปีส่งให้กรมเชื้อเพลิงฯ ภายในเดือน มี.ค. ของปีถัดไป ซึ่งประกอบด้วย สรุปบัญชีรายการของเสียที่เกิดขึ้นแยกตามกิจกรรม, สรุปบัญชีรายการของเสียทั้งหมดที่ส่งไปบำบัดหรือกำจัดในและนอกพื้นที่สถานประกอบกิจการปิโตรเลียม และสรุปบัญชีรายการของเสียอันตรายที่เก็บรักษาเพื่อรอการขนส่งและกำจัด เป็นต้น
ทั้งนี้อธิบดีอาจให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการเพิ่มเติมจากที่กำหนดในมาตรการการจัดการของเสียจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมได้ เพื่อประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม หรือความปลอดภัยและสุขอนามัยของประชาชนหรือให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วัดถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับของเสียจากสถานประกอบกิจการปิโตรเลียมแบ่งออกเป็น 21 หมวดหมู่ เช่น น้ำจากกระบวนการผลิต, ของเสียประเภทโคลนขุดเจาะ (Drilling muds), ของเสียประเภทเศษดินเศษหินจากการขุดเจาะ (Drill cutting), ของเสียประเภทน้ำมันและเชื้อเพลิงเหลว ไม่รวมน้ำมันที่บริโภคได้ และของเสียประเภทสารเคมีที่ใช้งานแล้ว เป็นต้น