สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จับมือเครือข่ายพลังงาน จัดสัมมนา “เมื่อรัฐช้า…ทางรอดภาคอุตสาหกรรม ในวันที่ไฟสะอาดไม่เพียงพอ” เปิดผลการศึกษา ชี้อุตสาหกรรมใน EEC กระทบหนักจากไฟฟ้าสะอาดไม่พอ ทำต้นทุนสูงขึ้น เสี่ยงสูญเสียโอกาสดึงการลงทุนจากต่างประเทศถึง 1.1 ล้านล้านบาท เสนอใช้ พ.ร.บ. EEC สร้างสายส่งไฟฟ้าสะอาดใช้ในพื้นที่ EEC
วันที่ 25 ก.ค. 2568 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย(RE100) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา “เมื่อรัฐช้า ทางรอดของภาคอุตสาหกรรมในวันที่ไฟสะอาดไม่เพียงพอ” (สายส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ EEC)
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางแรงกดดันทางเศรษฐกิจระดับโลกในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด จากทั้งกลไกการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) การลงทุนสีเขียว และข้อกำหนดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ของบริษัทข้ามชาติชั้นนำ แต่ในขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลับยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้อย่างเพียงพอ
โดยผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ความล่าช้าในการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้า (Third-Party Access: TPA) และความไม่ชัดเจนของนโยบายด้านพลังงานเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของภาคธุรกิจไทยในอนาคตอันใกล้ ซึ่งหากรัฐยังไม่เร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสใน 3 มิติ ดังนี้ 1.ด้านเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมจะเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้นจากการพึ่งพาไฟฟ้ารูปแบบ Green Tariff (UGT) และการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดนจาก CBAM โดยเฉพาะในภาคส่งออกนอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการสูญเสียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่อาจจะสูงกว่า 1.1 ล้านล้านบาท รวมทั้งโอกาสในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยอาจมากถึง 7 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว
2. ด้านสังคม การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ล่าช้า อาจทำให้เกิดการว่างงานจากภาคธุรกิจแบบเดิม ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก โดยไม่สามารถสร้าง “งานสีเขียว” ได้ทันรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เสี่ยงต่อการว่างงานเพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น

และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม ความต้องการใช้ไฟฟ้าของ Data Center ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด แต่ยังต้องการรักษาฐาน Data Center อาจส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตอื่นต้องหันมาใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลแทน ทำให้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้นคณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอ จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐในการเร่งรัดไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดึงดูดการลงทุน และรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย 1.ภาครัฐควรเร่งเปิดให้เอกชนเชื่อมต่อระบบสายส่งไฟฟ้า (Third-Party Access: TPA) เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุด และ 2. ควรพิจารณาขยายการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้รายใหญ่ (Direct PPA) ให้กับภาคอุตสาหกรรมอื่น ไม่จำกัดเฉพาะ Data Center และปรับเกณฑ์ UGT2 ให้ราคามีความยืดหยุ่นและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล เพื่อรองรับการส่งออกและแข่งขันกับนานาประเทศ
นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แนวทางนี้ จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐว่า จะให้การสนับสนุนหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ที่ต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วนสามารถหาทางออกด้วยการใช้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.EEC) มาเป็นกลไกในการขออนุญาตการสร้างโครงข่ายพลังงานสะอาดใหม่ เพื่อจัดส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรงจากแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดมายังภาคอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาให้ภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ และอุดช่องว่างของนโยบายระดับชาติที่ยังไม่ทันการณ์

สำหรับช่องทางการเดินหน้าโครงข่ายไฟฟ้าใหม่เพื่อจัดส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้แก่พื้นที่ EEC นั้น ควรมีกระบวนการอนุมัติ หรืออนุญาต 2 ช่องทาง คือ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และผ่านคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ตาม พ.ร.บ. EEC ซึ่งเป็นช่องทางที่มี ฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับชัดเจน ตามมาตรา 6(3), 29, 30 และ 37(4) ของ พ.ร.บ. EEC พ.ศ. 2561 ซึ่งเปิดทางให้ กพอ. สามารถพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตพลังงาน หากเห็นว่าโครงการนั้นเอื้อต่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ EEC และช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
“พ.ร.บ. EEC เป็นกลไกที่เอื้อต่อการลงทุนด้านพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในช่วงที่ภาครัฐยังไม่สามารถเปิด TPA หรือออกแบบกลไก UGT ที่แข่งขันได้ การเปิดให้เอกชนสามารถลงทุนโครงข่ายของตนเองภายใต้กรอบของ พ.ร.บ. EEC จึงเป็น ‘ทางรอด’ ที่สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาดของประเทศไทยอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.EEC สามารถเดินหน้าได้ทันที โดยกฎหมายให้อำนาจ กพอ. ในการอนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรา 37(4) ระบุให้ กพอ. สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานได้ โดย “ไม่ตัดอำนาจ” คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่เป็นอำนาจคู่ขนานตามกฎหมาย ทั้งนี้โครงการจะต้องอยู่ภายใต้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน และต้องมีการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าอย่างรอบด้าน ซึ่งเหมาะสำหรับโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การรองรับนักลงทุนใน EEC ที่ต้องการไฟฟ้าสะอาดอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการนั้นต้องพิจารณาถึงรูปแบบการลงทุนและรูปแบบการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันเพื่อออกแบบแนวทางการบริหารจัดการผลกระทบทางด้านสังคมอย่างเป็นธรรมด้วย
อย่างไรก็ตามในยุคที่ไฟฟ้าสะอาดกลายเป็นหัวใจของความสามารถในการแข่งขัน ไฟฟ้าสะอาดไม่ใช่เพียงเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการอยู่รอดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนขององค์กร และการรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ทว่าเนื่องจากการเปิดให้เอกชนเข้าถึงระบบสายส่ง ยังไม่เกิดขึ้นจริง ทางรอดของภาคอุตสาหกรรมวันนี้ คือการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าขึ้นมาใหม่เพื่อจ่ายไฟฟ้าสะอาดให้ตนเอง
“ถึงเวลารัฐต้องฟังเสียงภาคธุรกิจ ไฟฟ้าสะอาดไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ แต่คือทางรอด ทางออกนี้ไม่ใช่การเดินหน้าโดยเอกชนเพียงลำพัง แต่รัฐควรมีบทบาท ‘สนับสนุนโดยไม่สร้างอุปสรรคเพิ่ม’ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันออกแบบแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อสังคมอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมสอดรับกับเป้าหมายของประเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”