กบง. อนุมัติ ​Shipper​ นำเข้า​ LNG​ แต่ไม่ให้กระทบสัญญา​ก๊าซระยะยาวของ ปตท.

- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) ไฟเขียวเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2​ โดยไม่ให้กระทบภาระ​ take​ or​ pay สัญญาก๊าซระยะยาว​ ปตท.​ พร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) ที่มีนายกฯ เป็นประธานปลายเดือน มี.ค. 2564 นี้ คาดเห็นผลนำเข้าเป็นรูปธรรมตามหลักเกณฑ์​ใหม่ภายในปี 2564 นี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน​ (กบง.) วันที่ 9 มี.ค. 2564 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน​ ซึ่งประชุมในวันนี้​ (9 มี.ค. 2564​)​ ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2​ ตามที่ คณะอนุกรรมการ ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน นำเสนอ​ และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ (สนพ.) และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เพื่อให้การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯระยะที่ 2 ไม่กระทบต่อปริมาณการใช้ก๊าซฯในประเทศ รวมทั้งไม่ให้กระทบต่อภาระ Take or Pay ที่​ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวเอาไว้กับผู้ประกอบการในแหล่งก๊าซต่างๆ ทั้งในอ่าวไทย​ เมียนมา และสัญญาซื้อขายก๊าซLNGระยะยาว​ ปริมาณ​ 5.2 ล้านตันต่อปี​
โดยรายละเอียดหลักเกณฑ์การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯระยะที่ 2​ ทั้งหมดจะนำเสนอ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน​ เพื่อให้ความเห็นชอบ ประมาณปลายเดือน มี.ค.หรือต้นเดือน เม.ย. 2564 นี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมภายในปี​ 2564

สำหรับแนวทางการเปิดเสรีในเบื้องต้น กบง.เห็นชอบให้การนำเข้าก๊าซฯ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ การนำเข้าก๊าซฯ รูปแบบเดิมที่ ปตท.นำเข้าอยู่ในปัจจุบัน​ตามสัญญาที่มีข้อตกลงไว้อยู่เดิม​ หรือตามนโยบาย​ และส่วนที่ 2 คือการนำเข้าก๊าซฯ จากผู้นำเข้ารายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตเป็น Shipper

- Advertisment -

โดย Shipper จะนำเข้าได้ก็ต่อเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วว่า เป็นการนำเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ยังไม่มีสัญญาก๊าซระยะยาว​กับ ปตท. และพิจารณาแล้วว่าปริมาณก๊าซฯในประเทศมีไม่เพียงพอสำหรับไปใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ เป็นต้น

ในขณะที่ประเด็นโครงสร้างราคาก๊าซที่​ Shipper ​นำเข้า​จะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคในรูปของค่าไฟฟ้าหรือไม่​ รวมทั้งจะเป็นการเปิดประมูลเพื่อหาแหล่งซัพพลาย​ LNG ​ที่มีราคาต่ำที่สุด​ เช่นกรณีที่​ กฟผ.เคยจัดการประมูล​ ก่อนหน้านี้​ หรือเปิดให้​ Shipper​จัดหาก๊าซได้อย่างเสรี​ จะต้องมีการนำเสนอให้ กพช.พิจารณาต่อไป

สำหรับที่ผ่านมา กกพ.ได้พิจารณาให้ใบอนุญาตการเป็น Shipper แก่ผู้ประกอบการแล้ว 5 ราย ได้แก่

  1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
  3. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
  4. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
  5. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด

นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างน้อย 3 องค์กรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกพ. ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก, บริษัทลูกในกลุ่มของ บริษัท ปตท.จำกัด​ (มหาชน) เป็นต้น และบริษัทในกลุ่ม SCG เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า​ กบง.มีนัดหมายการประชุมอีกครั้งในวันที่​ 12​ มี.ค.2564​ นี้เพื่อพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าตามที่คณะทำงานชุดที่มีนายพรชัย​ รุจิประภา​ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน​ เป็นประธานคณะทำงาน

Advertisment

- Advertisment -.