รัฐตรึงค่าไฟ ให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนส่วนต่างมากเกินไป ประชาชนผู้ใช้ไฟยิ่งต้องทยอยจ่ายคืนมากขึ้น

827
- Advertisment-

ในทางการเมือง การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายปรับลดหรือตรึงไม่ให้มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าก็เพื่อหวังคะแนนนิยมจากประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าควรจะต้องรู้ว่า ต้นทุนส่วนต่างที่เกิดขึ้นจริงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเอาไว้ให้ก่อนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะสมอยู่ 1.38 แสนล้านบาทนั้น เป็นภาระที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องทยอยจ่ายคืนบวกด้วยดอกเบี้ยเงินกู้จนครบตามจำนวน และยิ่งปล่อยให้ กฟผ.แบกรับภาระมากเกินไปจนมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง หรือถูกปรับลดเครดิตเรตติ้งจะทำให้มีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าก็ยิ่งหนักขึ้น

นโยบายประชานิยมเรื่องค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากผู้ใช้ไฟฟ้า เพราะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ปรับลดลงจาก 4.45 บาทต่อหน่วยเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งผลจากมติ ครม.นี้ ทำให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) ต้องเรียกประชุมเพื่อกำหนดอัตราค่าเอฟทีงวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ที่ได้อนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้กันใหม่ โดยนำมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ. มาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว คือเป็นการกำหนดค่าไฟฟ้าตามมติ ครม. แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงก็ตาม โดยต้นทุนส่วนต่างที่ปรับลดจำนวน 46 สตางค์ต่อหน่วยนั้น กกพ.ให้ กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับไปก่อน

ผลจากมติ ครม.และ กกพ. ที่ปรับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ทำให้ กฟผ.ยังไม่ได้รับคืนเงินค้างจ่าย จากการที่ต้องแบกรับภาระแทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ก่อน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงปัจจุบัน เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 138,485 ล้านบาท ซึ่งในมติเดิมของ กกพ. นั้น กฟผ.จะต้องได้รับการทยอยคืนเงิน โดยบวกรวมไปในค่าเอฟทีงวดเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 จำนวน 38.31 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 23,428 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังเป็นอัตราที่ ปตท.ต้องมาช่วยแบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนกฟผ.ไปก่อนจำนวนประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งกฟผ.จะทยอยจ่ายคืนให้ ปตท.ในงวดถัดไป

- Advertisment -

สำหรับการคำนวณค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่จะเริ่มเห็นตัวเลขค่าไฟฟ้าประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน นี้ ทางเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)มีการส่งสัญญาณผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักแล้วว่า จะต้องปรับค่าเอฟทีสูงขึ้นจากงวดก่อนหน้า (กันยายน-ธันวาคม 2566)ซึ่งอยู่ที่ 20.48 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเกิน 4 บาทต่อหน่วย เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น , อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง รวมทั้งยังมีเงินภาระค่าเชื้อเพลิงที่ต้องทยอยจ่ายคืนให้กับ กฟผ. ด้วย

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมไฟฟ้า วิเคราะห์ว่า ค่าไฟฟ้าสำหรับงวด เดือนมกราคม- เมษายน 2567 หากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายการตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน สร้างคะแนนนิยมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ผ่านมติ ครม.เหมือนมติเมื่อ 18 กันยายน ที่ผ่านมาก็จะเป็นการบีบให้ กกพ.ต้องนำมาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ.มาใช้อีกครั้ง  แต่ผลกระทบที่ตามมาจะหนักขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่ กฟผ.จะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ไม่สามารถชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้กับ ปตท.ที่แบกภาระไว้ให้ก่อนหน้านั้นได้ และอาจถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง ที่จะทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการตรึงค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ก็จะต้องเป็นผู้ทยอยจ่ายคืนภาระหนี้ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยทั้งหมด โดยบวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าที่จะเรียกเก็บในงวดถัดๆไป

“ นโยบายตรึงค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ไม่ได้ทำให้ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงหายไป เพียงแต่มี กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับแทนไปก่อน ซึ่งในท้ายที่สุด ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะต้องทยอยจ่ายคืนภาระหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดบวกด้วยดอกเบี้ย “ แหล่งข่าวกล่าว

Advertisment