ชี้ลงนาม​ PPA รับซื้อไฟฟ้า 5 พันเมกะวัตต์ เดินหน้าตามมติ​ กพช.

N2032
- Advertisment-

แม้จะมีการส่งสัญญาณจากพรรคแกนนำที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่​ ว่ายังไม่ควรมีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า​ ( Power​ Purchase​Agreement​ หรือ​ PPA ​)​ ในโครงการใหม่​ แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยืนยันกระบวนการลงนาม​ PPA โครงการโรงไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรกกว่า 5 พันเมกะวัตต์ ยังเดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดตรวจสอบสัญญา หากแล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่ ทั้ง​ กฟผ.และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค​ สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที​ โดยเป็นไปตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า กระบวนการภายหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วม “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียว เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5,203 เมกะวัตต์​ ยังเดินหน้าไปตามขั้นตอน​ โดยทาง คณะกรรม​การกำกับ​กิจการ​พลังงาน​ ( กก​พ.)​ ยังไม่ได้มีคำสั่งให้ชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้า​ ( Power​ Purchase​ Agreement​ หรือ​ PPA ​)​ตามที่มีการส่งสัญญาณ​มาจากพรรคแกนนำที่จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แต่อย่างใด

โดยผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการตามที่​ กกพ.ประกาศรายชื่อ​ จะต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า​ ตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ผ่านมา มีมติกำหนดเอาไว้​ ประกอบด้วย​ ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567-2568 ต้องลงนาม PPA ภายใน 180 วัน (6 เดือน) นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขกับการไฟฟ้า ส่วนผู้ที่จะ COD ระหว่างปี 2569-2573 จะต้องลงนาม PPA ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขกับการไฟฟ้า (19 เม.ย. 2566)

- Advertisment -

โดยแหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การลงนามสัญญา PPA โรงไฟฟ้าสีเขียว เฟสแรก ยังคงเป็นไปตามกระบวนการปกติของกฎหมาย โดย กกพ. ไม่ได้เร่งรัดหรือดึงรั้งการลงนาม PPA แต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำส่งสัญญา PPA มาให้ กกพ.พิจารณาตรวจสอบว่าเป็นไปตามประกาศของ กกพ.และเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ผ่านมาหรือไม่ และหลังจาก กกพ. ตรวจสอบเสร็จแล้ว​ ก็ได้สั่งการให้ กฟผ.นำสัญญาดังกล่าวส่งไปให้ทางอัยการสูงสุดตรวจสอบต่อไป

โดยหากอัยการสูงสุดเห็นชอบแล้ว ทาง กฟผ.มีหน้าที่ต้องลงนาม PPA กับโรงไฟฟ้าที่ผ่านการพิจารณา แต่หาก กฟผ.ไม่สามารถลงนามได้ ทาง กฟผ.จะต้องส่งคำชี้แจงและเหตุผลมายัง กกพ. ให้รับทราบด้วย เพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป   

ดังนั้นขั้นตอนในขณะนี้​ ขึ้นอยู่กับว่าทางอัยการสูงสุดจะตรวจสอบสัญญาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ หากเสร็จก่อนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทาง กฟผ.ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ที่ กพช. เดิมมีมติสั่งการไว้ เนื่องจากมติ กพช. มีผลในทางกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม แต่หากทางอัยการสูงสุดตรวจสอบเสร็จหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว ก็จำเป็นต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลใหม่ก่อนว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตามหากการลงนาม PPA ล่าช้า ก็จะส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าสีเขียวล่าช้าไปด้วย เนื่องจากโรงไฟฟ้าสีเขียวต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีกว่าจะสร้างเสร็จ และส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่อาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดด้านการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งนโยบาย Green Energy ก็จะไม่ได้ตามเป้าหมาย และการลงทุน รวมทั้งการขอส่งเสริมการลงทุน ก็จะกระทบตามไปด้วย

ทั้งนี้ยืนยันว่าการลงนาม PPA ยังดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดอยู่ และทาง กกพ.ไม่ได้ชะลอการลงนามดังกล่าวแต่อย่างใด

Advertisment

- Advertisment -.