GULF​ แจ้งลงนาม​สัญญาซื้อขายไฟฟ้า​ กับ​ กฟผ. โครงการ​ Pak Beng สปป.ลาว​ ยาว​ 29​ ปี

- Advertisment-

บริษัทในกลุ่ม​ ​GULF​ ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า​ กับ​ กฟผ.​ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng สปป.ลาว​ ​อายุสัญญา​ 29​ ปี​ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ​ ปี​ 2576

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์​ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน​ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย​ทราบว่าเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และ CDTO ในสัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการ Pak Beng ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

- Advertisment -

โดยโครงการ Pak Beng มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 2567 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576

โครงการ Pak Beng เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลและสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ซึ่งได้ลงนามสัญญาสัมปทาน (Concession Agreement) กับรัฐบาล สปป.ลาว ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป.ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (MOU) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) โดยภายใต้ MOU ฉบับนี้ ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นใน สปป.ลาว และเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 10,500 เมกะวัตต์ มีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,935 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3,060 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ และโครงการที่ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) แล้ว 815 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ

ความร่วมมือภายใต้ MOU ดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาในระบบ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่จะหมดอายุรวมกว่าหมื่นเมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และยังตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกด้วย

การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ Pak Beng จะช่วยลดความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมให้ได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำตลอดอายุสัญญา เนื่องจากโครงการ Pak Beng มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 4-5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง อีกทั้ง ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โครงการ Pak Beng จะต้องมีการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงบุคลากร การจ้างงานและการบริการจากประเทศไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และยังเป็นไปตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

Advertisment

- Advertisment -.