GULF เข้าลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม กับกลุ่ม ETC และ BWG รวม 13 โครงการ

- Advertisment-

GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์ ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นกับกลุ่ม ETC และ BWG เพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และโครงการโรงงานผลิต เชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม  โดยมีสัญญาร่วมกับ ETC 10 โครงการรวมกำลังการผลิต 80 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท และ กับ BWG อีก 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวมประมาณ 2,600 ล้านบาท

โดย นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 มีนาคม 2567 แจ้งต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการ และโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ โดยได้ร่วมมือกับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ( BWG) ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในด้านการจัดการคัดแยกและ ฝังกลบขยะอุตสาหกรรม รวมถึงการแปรรูปขยะอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นของเสียอันตรายเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า (SRF) และบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ( ETC )ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญในการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและขยะ ชุมชนที่มีมาตรฐานสูง โดยทั้งสามฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรมแบบครบวงจรซึ่งเป็นการต่อยอดทั้งในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 บริษัท กัลฟ์ เวสท์ทูเอ็นเนอร์จี โฮลดิ้งส์ จำกัด ( GWTE )ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 100 ได้ลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ ETC เพื่อร่วมพัฒนาโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม นอกจากนี้ GWTE ยังได้ลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับ BWG เพื่อร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็ง จากขยะอุตสาหกรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

- Advertisment -

1. สัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง GWTE กับ ETC

โดย  GWTE ได้ร่วมลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นกับ ETC เพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50.00 ของบริษัท เก็ท กรีน พาวเวอร์ จำกัด ( GGP )ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 10 โครงการซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) เป็นระยะเวลา 20 ปี ไปเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาจำนวน 8 เมกะวัตต์ต่อโครงการ รวมกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น จำนวน 80 เมกะวัตต์และมีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569

GWTE  ETC และ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด ( WTX )ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้กลุ่มบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) (MILL) ได้ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นเพื่อให้ ETC เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้บริษัท ซันเทค อินโนเวชั่น พาวเวอร์ จำกัด (SIP) ด้วยการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งปัจจุบัน GWTE และ WTX ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51.00 และ 49.00 ตามลำดับ โดยภายหลังจากการเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน SIP ของ GWTE อยู่ที่ร้อยละ 34.00  WTX ร้อยละ 33.00   และ ETC อยู่ที่ร้อยละ 33.00  ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมทั้ง 2 โครงการภายใต้ SIP มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. เป็นระยะเวลา 20 ปีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

2. สัญญาผู้ถือหุ้นระหว่าง GWTE กับ BWG

โดย GWTE และ BWG ได้ลงนามสัญญาผู้ถือหุ้นเพื่อเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50.00 ของบริษัท เซอร์คูลาร์ แคมป์ จำกัด ( CC )ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม จำนวน 3 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,600 ล้านบาท และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 โดย CC จะเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม เพื่อส่งให้โรงไฟฟ้าในกลุ่ม GWTE ใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวข้างต้น กลุ่มบริษัทฯ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายใต้รูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า ตามสัญญารวม 96 เมกะวัตต์ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 และมีโครงการโรงงานผลิตเชื้อเพลิงแข็งจากขยะอุตสาหกรรม (SRF) จำนวน 3 โครงการ  มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568

การลงทุนดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศเป้าหมายของประเทศ ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ. 2593และ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608  ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ตามแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev. 1) เนื่องจากการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมโดยการนำขยะที่ไม่เป็นของเสียอันตรายและมีค่าความร้อนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (Solid Recovered Fuel: SRF) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า (waste-to-energy) เป็นการสร้างมูลค่าของเสียจากโรงงาน อีกทั้ง ยังช่วยลดปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ ลดพื้นที่ฝังกลบ ลดการเผาทำลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และ ยังเป็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการฝังกลบ และลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรตามนโยบายของภาครัฐ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy: BCG)

Advertisment

- Advertisment -.