GCยันโควิด-19กระทบธุรกิจไม่มาก

778
- Advertisment-

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ยืนยันได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ในเดือนก.พ. 2563 ไม่มาก และยังคงเป้าหมายปริมาณยอดขายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกปี 2563 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% เหตุคาดสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19คลี่คลายไตรมาส 2 นี้ และได้ปรับกลยุทธ์ลดสัดส่วนการส่งออกเม็ดพลาสติกจากจีนไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน เผยตั้งงบลงทุน 5 ปี(2563-2567)ไว้ 2 แสนล้านบาท เน้นต่อยอดโครงการลงทุนเดิมและมองหาโอกาสลงทุนใหม่เพิ่ม  

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า GC คาดว่าในเดือน ก.พ. 2563 จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยยอดจำหน่ายเม็ดพลาสติกจะลดลงประมาณ 1-2% ซึ่ง GC ยังเฝ้าระวังธุรกิจในระยะสั้นต่อไป อย่างไรก็ตามคาดว่าไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายได้ในไตรมาส 2 เนื่องจากสถิติการแพร่ระบาดในจีนเริ่มชะลอตัวลง

นอกจากนี้ GCมองการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก ประกอบกับได้ปรับกลยุทธ์การจำหน่ายเม็ดพลาสติก โดยลดสัดส่วนการจำหน่ายในจีนลงเหลือ 20% จากเดิมส่งออก 25-27% และหันไปจำหน่ายให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสัดส่วน 20% ขณะจำหน่ายในไทย 50% ส่งผลให้กระทบต่อปริมาณการจำหน่ายเม็ดพลาสติกไม่มากนัก โดยในปี 2563 GC ตั้งเป้าการเติบโตของยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกไว้ไม่ต่ำกว่า 10% ใกล้เคียงกับปี 2562

- Advertisment -

ทั้งนี้มองว่าผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกผ่านจุดต่ำสุดของราคาไปแล้วตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2562 และในปี 2563นี้จะทยอยปรับราคาสูงขึ้น รวมถึงค่าการกลั่นจะปรับสูงขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ  3.8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาเป็น 4-5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2563 ด้วย ดังนั้น GC ตั้งเป้าหมายการลงทุน 5 ปี(2563-2567)ไว้ 2 แสนล้านบาท เน้นการลงทุนต่อยอดโครงการเดิมและมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4หมื่นล้านบาทต่อปี

สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ กำลังการผลิตเอทิลีน 1.5 ล้านตันต่อปี ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน คาดว่าจะสามารถสรุปตัวเลขเงินลงทุนได้ภายในเดือนมิ.ย.2563นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความได้เปรียบทางความสามารถในการแข่งขันทางด้านวัตถุดิบ โดยมีแหล่งวัตถุดิบอีเทน (Ethane) ทำให้มีต้นทุนต่ำ ทั้งนี้บริษัทอยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆของโครงการ โดยจะสรุปแผนลงทุนได้ภายในกลางปี 2563 นี้

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า สำหรับเงินลงทุน 5 ปี (ปี 2563-2567) อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนโครงการใหม่ และเตรียมเงินสำหรับเข้าซื้อกิจการ(M&A) ในอนาคต

อย่างไรก็ตามในปี 2563 นี้ มีความคืบหน้าโครงการลงทุนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการหลักที่ตอบสนองนโยบาย New S-Curve ของภาครัฐ มูลค่าการลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ได้แก่โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนใน Naphtha Cracker เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัทฯและต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคต กำลังการผลิตเอทิลีน 5 แสนตันและโพรพิลีน 2.5 แสนตัน  ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 85 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4/2563 มูลค่าโครงการประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และโครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 2 แสนตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 1.3 แสนตันต่อปี มูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ High Value Business (HVB) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 85 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส 3/2563

ส่วนโครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่ PA9T 1.3 หมื่นตันต่อปี และ HSBC 1.6 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่าโครงการประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟเทเลท (Polyethylene Terephtalate: PET)ขยายการผลิต PET จาก 1.47 แสนตันต่อปี เป็น 2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สำหรับโครงการ HMC PP Line Expansion กำลังการผลิต เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน 2.5 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

สำหรับความคืบหน้าโครงการพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งร่วมมือกับพันธมิตร แอลพลา (ALPLA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับโลกปฏิวัติการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET ขนาด 3 หมื่นตันต่อปี และ rHDPE ขนาด 1.5 หมื่นตันต่อปี จะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2563 และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2564 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

 

Advertisment