ENC Data: เข้าใจราคาน้ำมันไทยกับวิกฤติน้ำมันซาอุฯ

2418
- Advertisment-

ENC Data : เหตุการณ์โจมตีโรงงานแปรรูปน้ำมันขนาดใหญ่ในซาอุดิอาระเบียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยอย่างไร? และภาครัฐของไทย มีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ในต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย อย่างไร?  อธิบายโดยย่อดังนี้

  • โรงงานแปรรูปน้ำมัน 2 แห่ง ของบริษัท Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย คือ Abqaiq และ Khurais ถูกโจมตีด้วยโดรน 10 ลำ เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของซาอุฯ หายไปครึ่งหนึ่ง หรือราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก

- Advertisment -
  • เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ 16 ก.ย. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทะยานขึ้นทันที ทั้งราคาเวสต์เท็กซัส  เบรนท์ และราคาดูไบ (ซึ่งไทยใช้อ้างอิงในการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นในประเทศ) จากความกังวลต่อการผลิตที่ลดลง ซึ่งจะกดดันปริมาณน้ำมันส่งออกจากซาอุฯ

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การผลิตของซาอุฯ และปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยหลังราคาพุ่งขึ้นไปในวันจันทร์ที่ 16 ก.ย.  ก็ปรับลดลงในวันที่ 17 ก.ย. และต่อเนื่องในวันที่ 18 ก.ย. เมื่อซาอุฯ ประกาศว่าจะกลับมาผลิตได้ตามปกติภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้  แต่ราคาก็กลับไต่ขึ้นไปอีกครั้ง เมื่อนักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าซาอุฯ จะทำได้ตามแผน

  • สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จะส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย ไม่มากก็น้อย เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบราว 85% ของความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศ โดยส่วนใหญ่ไทยนำเข้าน้ำมันจากแหล่งในตะวันออกกลาง และสำหรับน้ำมันดิบจากซาอุฯ ไทยนำเข้าราว 170,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในประเทศไทย จะไม่ขึ้นหรือลงตามราคาน้ำมันในต่างประเทศทันที (ไม่ real time) แต่จะใช้ราคาตลาดโลกเฉลี่ย 3-7 วัน ในการคำนวน และน้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้าจะอ้างอิงราคาดูไบ ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ ก็จะอ้างอิงราคากลางที่ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งต้องนำมาประกอบกับปัจจัยอื่นๆ ในการคำนวณกำหนดราคาขายในประเทศ

  • ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทย ประกอบด้วย ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการกลั่น ภาษีต่างๆ เงินนำส่งเข้ากองทุนต่างๆ และค่าการตลาด

  • รัฐใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เมื่อถึงเวลาที่ปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย กระทรวงพลังงานจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคา ไม่ให้ปรับขึ้นเร็วหรือสูงเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยสำหรับการรับมือกับวิกฤติน้ำมันซาอุฯ ในครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน โดย คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกคุมราคาน้ำมัน โดยให้ลดอัตราการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับกลุ่มเบนซิน 1 บาทต่อลิตร และดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 62  แต่หากราคาน้ำมันดิบโลกปรับลดลงเหลือประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็จะปล่อยให้เงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ โดยอาจจะไม่ปรับลดราคาหน้าปั๊ม เพื่อให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินเข้ามาทดแทนช่วงเวลาที่ลดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อตรึงราคาหน้าปั๊มดังกล่าว
Advertisment