“สนธิรัตน์” เผยมีพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า1พันแห่ง มูลค่าลงทุน1-2แสนล้านบาท

- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน เผยมีพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนได้กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ประเมินมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชน กว่า 1-2 แสนล้านบาท โดยจะจัดทำโมเดลการลงทุนเสร็จใน 2เดือนนี้ พร้อมเปิดตัวโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มแรกในปี 2563 เบื้องต้นกำหนดให้เป็นประเภทโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP)ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ในรูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิง(Hybrid )ระหว่าง ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ และแสงอาทิตย์ คาดจะมีการพิจารณาพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้าและเกาะให้ดำเนินการได้ก่อน พื้นที่กลุ่มอื่นๆ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา The next Thailand 4.0 ทางออกเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเสนอจะดำเนินการตั้งแต่ขนาดต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ จนถึง100 เมกะวัตต์ ซึ่งประเมินเบื้องต้นคิดเป็นมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนกว่า  1-2 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการลงทุนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จใน 2 เดือนนี้ และคาดว่าโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่มแรกจะเริ่มสร้างขึ้นได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

- Advertisment -

ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้นพบว่าโรงไฟฟ้าชุมชนน่าจะมีศักยภาพดำเนินการได้มากกว่า 1,000  พื้นที่ทั่วประเทศ โดยหากลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) ขนาด1 เมกะวัตต์ จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ดังนั้นถ้าทำได้ถึง 1,000 เมกะวัตต์ จะมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาให้ดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP)ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อประหยัดต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบ ส่วนเชื้อเพลิงจะเป็นรูปแบบผสมผสาน(Hybrid)ระหว่าง เชื้อเพลิงชีวมวล(Biomass),เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (Biogas) และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำและลดภาระการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในอนาคต

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำโรงไฟฟ้าขยะมาอยู่ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนด้วย เนื่องจากช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและยังเป็นโรงไฟฟ้าสำหรับชุมชนได้ด้วย

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น จะต้องพิจารณาพื้นที่ที่มีสายส่งไฟฟ้าพาดผ่าน,มีวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าเพียงพอ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับชุมชนด้วย ทั้งนี้พื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้าหรือสายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง เช่น เกาะต่างๆ หรือพื้นที่ปลายสายส่งไฟฟ้า อาจได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการได้ก่อน เป็นต้น

นอกจากนี้การคัดเลือกชุมชนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องพิจารณาถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถพยุงเศรษฐกิจฐานรากได้ โดยจะทำร่วมกับโครงการประชารัฐสร้างไทย เพื่อเชื่อมโยงการต่อยอดกับหน่วยงานรัฐอื่นๆสำหรับพัฒนาต่อไปถึงสินค้าชุมชน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และทำให้ชุมชนฐานรากเกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไป

Advertisment